ยินดีต้อนรับสู่บ้านอบอุ่นของคนรัก บอย สพล ชนวีร์

ภาษาไทยยังวิกฤติ เด็ก-ครูมาตรฐานต่ำ

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ นานะจัง

  • *
  • 7234
  • -3
  • เพศ: หญิง
  • นิศาอรพินท์
    • อีเมล์
ภาษาไทยยังวิกฤติ เด็ก-ครูมาตรฐานต่ำ
« เมื่อ: พฤษภาคม 18, 2012, 02:47:30 PM »


ภาษาไทยยังวิกฤติ เด็ก-ครูมาตรฐานต่ำ
โดย ศิวกานต์


การศึกษาของเด็กไทยด้านเทคโนโลยีกำลังรุ่ง

เด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 กำลังได้รับแท็บเล็ต แต่ด้านวิชาการกำลังร่วง
เพราะเด็กอีกส่วนหนึ่งแม้จะขึ้นชั้นประถมแล้ว ยังอ่านหนังสือไม่ออก
เขียนหนังสือไม่ได้

เรื่องนี้ ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ อดีตอาจารย์ภาควิชาภาษาไทย สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
ปัจจุบันเจ้าของศูนย์การเรียนรู้ทุ่งสักอาศรม ต.จรเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี
ครูผู้ออกให้ความรู้และแก้ปัญหาให้เด็กที่อ่านหนังสือไม่ออก
เขียนหนังสือไม่ได้ตามภาคต่างๆ
พบว่าเด็กไทยกำลังประสบปัญหาทั้งการอ่านและเขียนต่ำกว่ามาตรฐานมาก

“เรื่องนี้กระทรวงศึกษาธิการคงจะได้แต่เพียงวาดฝันลมๆ แล้งๆ
เท่าที่พบเห็นมาอย่างมากก็แค่บรรลุผลตามรายงานปั้นแต่ง ตามโครงการต่างๆ
ที่จัดทำขึ้นให้สอดคล้องกับตัวบ่งชี้ที่กำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น
มิอาจปลูกหว่านจิตวิญญาณแห่งรักให้เจริญงอกงามในวิถีชีวิตของเด็กไทยได้”
ผศ.ศิวกานท์บอก

พลางชี้ชวนให้ดูว่า ไม่ว่าในสถานศึกษา ศูนย์การค้า หรือในที่สาธารณะใดๆ
เรายังคงเห็นแต่ภาพเด็กและเยาวชนไทยหมกมุ่นกับโทรศัพท์ และสื่อออนไลน์ต่างๆ
เกลื่อนตา น้อยนักที่เราจะเห็นพวกเขาพกพาหนังสือ อ่านหนังสือ
สาเหตุสำคัญก็เพราะว่าวิถีครอบครัวไทยและครูไทยยังรักการอ่านน้อย เด็กๆ
ยังมีต้นแบบชีวิตในเรื่องนี้น้อย
และที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือเด็กไทยอีกจำนวนไม่น้อยยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้

ข้อมูลเชิงประจักษ์เรื่องเด็กไทยอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้
ผศ.ศิวกานท์ได้ทำแบบทดสอบความสามารถในการเขียนตามคำบอก โดยจัดทำจากคำระดับทักษะชั้น
ป.1 แล้วให้นักเรียนตั้งแต่ชั้น ป.2 ขึ้นไปเขียนตามคำบอกจำนวน 50 คำ

คำเหล่านั้นกำหนดตามมาตรฐานของคำระดับชั้น ป.1 ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบครอบคลุมคือ
มีพยัญชนะต้นครอบคลุมอักษร 3 หมู่ (อักษรต่ำ-กลาง-สูง) เป็นคำสะกดตรงมาตราสะกดทั้ง
9 แม่ ประกอบด้วยสระรวมแล้วไม่น้อยกว่า 20 เสียง มีคำควบกล้ำและอักษรนำเบื้องต้น
และมีคำผันเสียงอักษรครบทั้ง 3 หมู่

คำที่กำหนด 50 คำดังกล่าว เช่น กาแฟ ทอผ้า มะลิลา สึนามิ อายิโนะ เตาะแตะ ฉอเลาะ
เล้าไก่ เข้าถ้ำขยำขยี้ ปิงปอง โผงผาง ข้างล่าง ทุ่งนาแล้ง อึ่งอ่าง ไอโอดีน ปิ่นโต
เส้นด้าย เล่นโขน ฟ้อนรำ ซุ่มซ่าม ยิ้มแย้ม อ่อนน้อม รอยเท้า กุ้งฝอย ผิวขาว
แน่วแน่ ของฝาก ปึกแผ่น กุ๊กกิ๊ก ชอกช้ำ เจียระไน เผื่อแผ่ ด้ามมีด ฮึดสู้ ฯลฯ

เกณฑ์การทดสอบกำหนด 50 คำ เป็น 50 คะแนน นักเรียนที่ได้ 25 คะแนนขึ้นไปจึงถือว่า
“ผ่านการทดสอบ” ซึ่งผลการสุ่มทดสอบนักเรียนในภาคต่างๆ และ กทม. ปรากฏว่า
ค่าเฉลี่ยการสุ่มทดสอบเขียนตามคำ

บอกจากคำในระดับทักษะชั้น ป.1 จำนวน 50 คำ ของนักเรียนชั้น ป.1-ม.3 ทุกภาค จำนวน
3,862 คน นักเรียนที่ได้คะแนนผ่านเกณฑ์ 25 คะแนนขึ้นไปมีจำนวน 1,989 คน
คิดเป็นร้อยละ 51.50 สำหรับนักเรียนที่ได้คะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ 25 คะแนน มีจำนวน 1,873
คน คิดเป็นร้อยละ 48.50

และน่าตกใจกว่านั้นคือ เมื่อใช้หลักการเดียวกันนี้
ทดสอบครูผู้สอนและผู้บริหารสถานศึกษา ด้วยการกำหนดคำ 20 คำ (20 คะแนน)
ให้เขียนตามคำบอกโดยไม่ต้องเขียนชื่อของตนที่กระดาษคำตอบ
อาจเขียนรหัสหรือสัญลักษณ์ใดๆ ไว้เป็นเครื่องสังเกตเฉพาะตนหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้
เพื่อไม่ให้มีความรู้สึกเป็นกังวลกับการเขียนได้หรือเขียนไม่ได้

คำ 20 คำดังกล่าว ได้แก่ ทะนุถนอม ไซ่ง่อน เลือนราง หร็อมแหร็ม ตุ้ยนุ้ย ขะมักเขม้น
โป๊ะเชะ เคลิบเคลิ้ม ชะโงกง้ำ โอ้กอ้าก ระล่ำระลัก โขยกเขยก ฟั่นเชือก หน็อยแน่
เพ่นพ่าน ปั้นจิ้มปั้นเจ๋อ เหลาเหย่ เขี้ยวโง้ง ประดักประเดิด และปวกเปียก

ผู้ที่เขียนตามคำบอกได้ 10 คะแนนขึ้นไปถือ “ผ่าน” ในมาตรฐานทักษะ ป.1

ปรากฏว่า
ค่าเฉลี่ยการสุ่มทดสอบเขียนตามคำบอกของครูและผู้บริหารสถานศึกษาจากคำระดับมาตรฐานทักษะ
ป.1 จำนวน 20 คำ (20 คะแนน) ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคอีสาน จำนวน
1,107 คน ผู้ที่ได้คะแนนผ่านเกณฑ์ 10 คะแนนขึ้นไปมีจำนวน 675 คน คิดเป็นร้อยละ
60.98 และผู้ที่ได้คะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ 25 คะแนนมีจำนวน 432 คน คิดเป็นร้อยละ 39.02

เมื่อถามว่า เหตุใดการอ่านเขียนของเด็กและครูจึงตกต่ำอย่างหนัก ผศ.ศิวกานท์บอกว่า
มีสาเหตุสำคัญมาจากกระบวนการเรียนการสอนที่ผิดพลาด
และผู้ที่เกี่ยวข้องต่างก็ยังดื้อดันทุรังกระทำในสิ่งที่ผิดพลาดซ้ำซากกันอยู่
พร้อมแจกแจงเป็นข้อๆ ว่า

1.การสอนภาษาไทยที่ผิดไปจากวิถีทักษะที่ถูกต้อง
นั่นคือการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นแต่ประสบการณ์ภาษาในด้านการ “จำรูปคำ”
มากกว่าการ “เปล่ง-ท่อง-อ่าน-สะกด-ผัน-คัด-เขียน” ...นี่เป็นสาเหตุใหญ่ที่ผิดพลาด!
ด้วยว่าการเรียนการสอนภาษาไทยเพื่อการอ่านออกเขียนได้เบื้องต้นนั้น จะต้องสอนด้วย
“วิถีแจกลูก สะกดคำ ผันเสียง คัดและเขียนตามคำบอก” เป็นหลัก
ส่วนวิธีการเรียนการสอนแบบอื่นๆ อาจนำมาใช้ร่วมได้บ้าง
แต่ให้เป็นเพียงแค่เสริมการเรียนรู้เท่านั้น

2.เด็กในยุคสมัยปัจจุบันมีภาวะสมาธิสั้นกันมาก เนื่องจากการเลี้ยงดูที่ผิดพลาด
การบริโภคแบบทุโภชนาการ การติดสื่ออิเล็กทรอนิกส์และเกมต่างๆ
ผนวกกับการจัดการเรียนการสอนของครูที่ผิดวิถี (ดังที่กล่าวในข้อ 1.)
ที่เน้นความรู้ความจำมากกว่าการฝึกย้ำทักษะ เด็กๆ
ที่สมาธิสั้นและเรียนรู้แบบตามรู้ตามจำจะลืมง่าย
ไม่สามารถอ่านได้เขียนได้อย่างแท้จริง
จะอ่านได้เขียนได้ก็แต่คำที่จำรูปคำมาเท่านั้น

3.นโยบายและการบริหารจัดการที่ผิดพลาดก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งซึ่งไม่ควรมองข้าม
ตั้งแต่ระดับกระทรวง, สพฐ., สมศ., สพป.
ถึงระดับโรงเรียนต่างพากันให้ความสำคัญที่ชั้น ป.3 และ ป.6
โดยละเลยกับความสำคัญของการเตรียมพื้นฐานการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามวัยตั้งแต่ระดับอนุบาล
และละเลยกับการจัดการเรียนการสอนตามวิถีอ่านเขียนภาษาไทยที่ถูกต้องในระดับ ป.1
ปล่อยให้การเร่งอวดอ่านเขียนในระดับอนุบาลที่ผิดขั้นตอนทำลายการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
และปล่อยให้ครูที่ไม่มีประสบการณ์ “แจกลูก-สะกดคำ-ผันเสียง-คัดเขียน” สอนระดับ ป.1
แบบพร่องทักษะ ทั้งขาดการนิเทศและตรวจสอบในระดับที่เหมาะสม

ทั้งสามสาเหตุแห่งปัญหา
ล้วนเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศที่ยังคงถูกปล่อยปละละเลยในการบริหารจัดการของผู้บริหารการศึกษาทุกระดับ
ทั้งที่ถ้าจะเอาจริงกับเรื่องนี้ ก็เป็นสิ่งที่ “แก้ง่ายนิดเดียว”

โดยสาระสำคัญก็คือ โรงเรียนจะต้องจัดทำโครงการป้องกันปัญหาและแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
เป็นต้นว่า จัดโครงการป้องกันปัญหา
โดยจัดการเรียนการสอนแบบปูพื้นความพร้อมระดับอนุบาลให้ถูกต้อง
ไม่เร่งร้อนทำลายศักยภาพของเด็ก และจัดการเรียนการสอนสร้างเสริมทักษะภาษาระดับ ป.1
ให้ถูกต้อง รวมทั้งมีมาตรฐานทักษะอ่านออกเขียนได้อย่างเพียงพอแท้จริง

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งของการแก้ปัญหาก็คือ “กระทรวงศึกษาธิการจะต้องไม่ลืมว่า
ขณะนี้ครูผู้สอนเองก็ย่ำแย่ในทางทักษะภาษาอย่างน่าวิตก
จะต้องแสวงหาแนวทางแก้ไขทั้งที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้า
และการป้องกันปัญหาในกระบวนการผลิตสร้างครูในอนาคตอย่างแม่นตรงต่อคุณภาพแท้จริงต่อไปด้วย”

เด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 คนที่มีความพร้อม
เมื่อได้แท็บเล็ตไปย่อมเหมือนพยัคฆ์ติดปีก
แต่เด็กที่ไม่มีความพร้อมก็ไม่รู้เหมือนกันว่า รับเอาไปทำอะไร.ไทยรัฐออนไลน์
 โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์
 18 พฤษภาคม 2555, 05:00 น.
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
 1 ข่าว
 ไม่มีรูปภาพที่เกี่ยวข้อง
 ไม่มีข้อมูลบุคคลที่เกี่ยวข้อง
tags:
สกู๊ปหน้า 1 การศึกษา ศิวกานท์ ปทุมสูติ ภาษาไทย 
ขยายตัวอักษร
ใหญ่ขึ้นเล็กลง
คุณชอบข่าวนี้หรือไม่ ชอบ ไม่ชอบผลการโหวตชอบ7 คน100.0%ไม่ชอบ0 คน0.0%

credit : http://www.thairath.co.th/column/pol/page1scoop/261071