เข้ามาแก้ไขความผิดพลาดของตัวเองค่ะ เมื่อวานเบลอไปนิดนึง
ว่าด้วยเรื่องหลักการออกเสียงเชื่อมตามคำขอของคุณ galdewis
หลักง่ายๆ มีอยู่ว่า
1. ตามปกติคำไทยไม่นิยมออกเสียง อะ ท้ายตัวสะกดของคำหน้า ยกเว้นบางคำที่ออกเสียงแบบหลักการอ่านคำสมาส จะมีอยู่ 50 คำ ตามที่อ.กำชัย ทองหล่อ ได้แต่งเป้นกาพย์เพื่อให้จำง่ายว่า
จักจั่นจักแหล่นแล่นไป ตั๊กแตนตาไว
ตุ๊กต่ำตุ๊กตุ่นจุนสี
สมุลแว้งอุตลุดราวี อัตคัดชุกชี
สกปรกสัปหงกงงงวย
ลักเพศทักทินสิ้นสวย พิศดูสำรวย
อุตพิดพิศวงสัตวา
ลักปิดลักเปิดตุ๊กตา ลักจั่นจำลา
โสกโดกสัปดนฤๅดี
สักหลาดสักวาพาที สัปเหร่อเจอผี
ดุจดังสัพยอกสัปทน
อลหม่านอลเวงอลวน รอมร่อเลิศล้น
จุกผามจุกโรหินี
พัลวันอึกทึกธานี จักเดียมจักจี้
ชันกาดชักเย่อชุลมุน
2. ในคำไทยที่รับมาจากภาษาบาลีสันสกฤต พยัญชนะที่ไม่มีรูปสระให้อ่านออกเสียง อะ กำกับอยู่ด้วยเสมอ เช่น ปรมราชา
แต่ คำบางคำก็ออกเสียงได้ 2 แบบ เช่น พยาธิ(พะ-ยาด / พะ-ยา-ทิ) สมาธิ (สะ-หฺมาด / สะ-มา-ทิ)
3.คำที่มีตัวสะกดตัวตามเป็นพยัญชนะวรรค หรือพยัญชนะเศษวรรคที่มีรูปเหมือนกัน จะไม่อ่านออกเสียง อะ คั่น เช่น สักขี ปุจฉา สัปดาห์ ปรัชญา
4. คำที่มีตัวสะกดเป้นพยัญชนะวรรค แต่ตัวตามเป็นพยัญชนะเศษวรรค หรือตัวสะกดเป็นพยัญชนะเศษวรรค ตัวตามเป็นพยํญชนะวรรค หรือทั้งตัวสะกดและตัวตามเป็นพยัญชนะเศษวรรคทั้งคู่ แต่มีรูปร่างต่างกัน ต้องอ่านออกเสียง อะ แบบกึ่งเสียง เช่น ศากย พิษณุ อัศวิน
5. กรณีที่เป็นคำสมาส ต้องอ่านพยางค์สุดท้ายของคำหน้าด้วย (ก็คือมีเสียง อะ คั่นนั่นเอง) เช่น ราชการ บวรราช
เว้นเพียงบางคำที่ไม่อ่านออกเสียง อะ คั่น เช่น สุภาพบุรุษ ชลบุรี
ส่วนคำสนธิมักไม่ค่อยมีปัญหา จึงไม่อธิบาย
พยัญชนะวรรค และพยัญชนะเศษวรรคคืออะไร เข้าใจว่าหลายๆคนในที่นี้น่าจะเคยได้เรียนมาบ้างแล้ว การแบ่งพยัญชนะวรรค และพยัญชนะเศษวรรคเป็นวิธีทางบาลีสันสกฤต (เห็นได้ชัดในบทสวดมนต์ หรือคำในทางพระพุทธศาสนา เช่น ทุกข์ ตัวสะกดคือ ก ตัวตามคือ ข )
พยัญชนะวรรค มี 5 วรรค คือ
วรรค กะ ได้แก่ ก ข ค ฆ ง
วรรคจะ ได้แก่ จ ฉ ช ฌ ญ
วรรค ฏะ ได้แก่ ฏ ฐ ฒ ฑ ณ
วรรค ตะ ได้แก่ ต ถ ท ธ น
วรรค ปะ ได้แก่ ป ผ พ ภ ม
และเศษวรรค ได้แก่ ย ร ล ว ส ห ฬ (สันสกฤต มี ศ และ ษ ด้วย) อาจารย์มักสอนให้เราจำง่ายๆในเรื่องของเศษวรรคนี้ว่า ยะ ระ ละ วะ สะ หะ ฬะ อัง ไงคะ จำกันได้ไหมเอ่ย
ความจริงหลักการอ่าน และสมาสสนธิคำทางภาษาบาลีสันสกฤตยุ่งกว่านี้เยอะค่ะ มีทั้งธาตุ วิภัตติ ตัทธิต ปัจจัย ฯลฯ เต็มไปหมด แต่มันไม่ค่อยเกี่ยวกับภาษาไทยทั่วไปที่ใช้กันเท่าไหร่ อินก็เลยไม่เอ่ยถึง
ทีนี้มาว่าเรื่องของน้องกาฬ เรื่องอดีต และอนาคต
คำว่า ปรัตยุบัน กาฬก็ไม่เจอในหนังสือสมัยนี้เลยค่ะ ถ้าเป็นอนาคตใช้คำว่า ปรัตจาต รึเปล่าคะ ส่วนอดีตใช้คำว่าอะไรอ่ะ
พี่หาไม่พบในพจนานุกรม หรือข้อมูลอ้างอิงที่ไหนเลยจ้ะ ที่พบก็มีแต่ปรัตยุบัน = ปัจจุบัน บาลีเขียนว่า ปจฺจุปฺปนฺน สันสกฤตเขียน ปฺรตฺยุตฺปฺน
พรุ่งนี้มาต่อนะจ๊ะ