นานะจังไปเจอ กระทู้ในพันทิพ มาค่ะ คือนั่งรอว่าHostแก้ไขบอร์ด (เซ็งบอร์ดมีปัญหาตลอด เลย สงสัยปีหน้าคงได้ย้ายโฮสแน่ๆละ) :-[
ที่คอนเน็คดาต้าเบสเสร็จเมื่อไรก็เลยนั่งอ่านไปเรื่อย จนไปเจอกระทู้นี้น่าสนใจดีก็เลยเอามาลงเพื่อถกกันต่อค่ะ ;)
http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A7434879/A7434879.htmlเราควรรื้อถอนโครงสร้างของละคร 'น้ำเน่า' หรือไม่? เรื่องดีดี ที่ต้องใช้วิจารณญาณในการรับชม จาก วินทร์ เลียววาริณ
พอดีได้มีโอกาส อ่านเรื่องนี้ ก็เลยอยากนำเอามาแบ่งปันให้เพื่อนๆในห้องนี้ได้อ่านกันด้วย ถ้าหากว่ามันจะมีประโยชน์ให้กับผู้ใดก็ตามที่มีโอกาสได้มีส่วนร่วมในละคร ไม่ว่าจะเป็น คนสร้าง ดารานักแสดง ทีมงานทุกท่าน ตลอดจนคนดู ก็ขอยก Credit ให้คุณ วินทร์ เลียววาริณ นะคะ
โดยส่วนตัวแล้วบอกได้เลยว่าเห็นด้วย โดยเฉพาะ ประโยคนี้
"ตัวอย่างความบันเทิงมากมายในโลกที่สามารถสอดสาระเข้ากับความบันเทิงและยกระดับผู้เสพ ทำให้เราต้องถามตัวเองว่า ถ้าเรารู้ว่าเราสามารถส่งเสียลูกให้เรียนจบปริญญาได้ เราจะยอมให้เขาจบแค่ชั้นอนุบาลหรือ?"
เราควรรื้อถอนโครงสร้างของละคร 'น้ำเน่า' หรือไม่?*
ผมดูละครโทรทัศน์ไทยครั้งแรกเมื่อสามสิบห้าปีมาแล้ว แทบทั้งหมดเป็นนิยายรักที่มีโครงเรื่องเกี่ยวกับการแย่งชิงมรดก การทะเลาะกันระหว่างแม่ผัวกับลูกสะใภ้ การกลั่นแกล้งนางเอก การชิงรักหักสวาท การตบ-จูบ ฯลฯ
ผ่านมา 3.5 ทศวรรษ ดูเหมือนว่าเนื้อหาของละครโทรทัศน์ยังคงรักษารากเดิมอย่างเหนียวแน่น หลายคนปฏิเสธความบันเทิงแบบ 'หนีความจริง' นี้ ด้วยเหตุผลว่า ผู้สร้างละครไม่เคยเปลี่ยนโลกทัศน์ เนื้อเรื่องที่ 'เหนือจริง' เหล่านี้เป็นการดูถูกสติปัญญาของคนดู บ้างก็ว่าทำให้ผู้ชมจมอยู่ในโลกของความเพ้อฝันลมๆ แล้งๆ และทำให้สังคมเราถอยหลัง เพราะรับสารความคิดมาผิดๆ ฯลฯ
ทว่าหากมองในมุมของเวลา สิ่งใดที่อยู่ยืนยงมานานขนาดนี้อาจมีคุณค่าของมัน หรือกระทั่งเป็นเอกลักษณ์แบบไทยๆ ที่มีเสน่ห์ของมัน? คำถามคือเราสมควรรื้อถอนโครงสร้างของละครแบบเดิมๆ นี้หรือไม่? และเพราะอะไร?
นี่ไม่ใช่คำถามใหม่ สังคมรับรู้ปัญหานี้ (หากเราจัดมันเป็นปัญหา!) มานานแล้ว มีหลายความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคม แต่มันก็ยังคงดำรงอยู่
บางคนแสดงความเห็นว่าคนไทยเกิดในสังคมที่หลอมเหลาให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือสรรค์สร้างอะไรได้ด้วยตัวเอง ต้องรอโชคและฟ้าประทาน ความคิดนี้จึงสะท้อนในละครไปโดยปริยาย ตั้งแต่ตัวละครประเภทที่รอฟ้าบันดาล ไปถึงโครงเรื่องในรูปของการรอคอยความหวังใหม่ (บ่อยครั้งในรูปของมรดก หรือการแต่งงานกับคนที่รวยมาก)
บางคนเห็นว่า ในชีวิตจริงของแต่ละคนก็เหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าสาหัส กลับถึงบ้านก็ไม่อยากรับรู้อะไรที่หนักหัวอีก การดูละครโทรทัศน์ที่หนีโลกแบบนี้ก็เป็นการคลายเซลล์สมองอย่างหนึ่ง
คนอีกไม่น้อยแย้งว่า ละครเหล่านี้มิได้เป็นเรื่องเหนือจริงแต่ประการใด ชีวิตจริงของคนบางคนไม่น่าเชื่อ (บางคนใช้คำว่า 'น้ำเน่า') เสียยิ่งกว่านิยายเสียอีก
ความจริง คำว่า 'รื้อถอน' นี้มิได้มีนัยของการทำลายโดยสิ้นซาก แต่เป็นการพัฒนาต่อไปไม่ให้ซ้ำรอยเดิมมากกว่า พูดง่ายๆ คือ เราจะเต้นฟุตเวิร์กอยู่กับที่ หรือว่าจะวิ่งออกไปจากจุดเดิม
หากเราเลือกที่จะวิ่งออกไปจากจุดเดิม ก็นำเราไปสู่อีกสองคำถามคือ
1 ทำไมต้องเปลี่ยนแปลง? มันสำคัญนักหรือ? ในเมื่อละครโทรทัศน์ก็เป็นเพียงความบันเทิงราคาถูกสำหรับคนทั่วไป จะหวังเอาสาระอะไรกันนักหนา?
และ 2 เรามีความสามารถเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือ ทั้งในแง่นายทุนและผู้สร้างสรรค์งาน?
สำหรับข้อแรก เราต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า สังคมคือการอยู่ร่วมกันของคนกลุ่มใหญ่ คุณค่าของสังคมก็คือความผาสุกของคนส่วนใหญ่, คุณภาพชีวิต และคุณภาพของมนุษย์ (ไม่เช่นนั้นก็ไม่รู้จะมาอยู่รวมกันทำไม) และเครื่องมือหนึ่งที่มีส่วนพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีก็คือศิลปะที่ดี
เมื่อมองอย่างนี้ จะเห็นว่าเราสามารถใช้คุณภาพชีวิตและคุณภาพของมนุษย์เป็นมาตรวัดคุณค่าของศิลปะ ศิลปะที่ดีน่าจะมีส่วนช่วยทำให้มนุษย์มีคุณค่าขึ้น ไม่ทางจิตใจก็ทางความคิด และอะไรก็ตามที่ทำให้มนุษย์ลดค่าลงหรือโง่ลง ไม่ว่ามันจะดำรงอยู่ในสังคมมานานเท่าไร นอกจากจะไม่น่าจัดว่ามีคุณค่าแล้ว อาจจะไม่นับว่าเป็นศิลปะด้วยซ้ำ
ภาพยนตร์เป็นสายหนึ่งของศิลปะ หากเราดูสายธารของศิลปะทุกสายในประวัติศาสตร์โลก ศิลปะเป็นสิ่งที่ไม่อยู่นิ่ง ไม่มีกรอบตายตัว ไม่มีกฎกติกาใดๆ และเนื่องจากมันไม่อยู่นิ่งนี่เอง จึงก่อเกิดสายธารศิลปะมากมายหลายแขนง ยกตัวอย่างเช่นในงานจิตรกรรม หากถือว่าการวาดภาพแบบเรียลิสติกเป็นแนวทางมาตรฐานหรือเอกลักษณ์ที่ต้องอนุรักษ์ดำรงไว้ โลกนี้ก็คงไม่มีทางกำเนิดศิลปะสายอื่นๆ เช่น แนวแอ็บสแตร็คท์ แนวเซอร์เรียลิสม์ แนวป๊อปอาร์ต ฯลฯ และศิลปินอย่าง แวนโก๊ะห์ ปิกัสโซ่ เซอราต์ ดาลี ฯลฯ ก็ไม่มีทางได้เกิด เช่นกันด้วยความเชื่อที่ไม่ยอมถูกจำกัดด้วยกรอบใดๆ โลกเราตอนนี้จึงมีตระกูลนิยายมากมายกว่าสมัยเชกสเปียรส์หลายร้อยเท่า และนี่เป็นสิ่งที่ดีมิใช่หรือ?
ผมเชื่ออย่างโง่ๆ (และอาจจะไร้เดียงสา) ว่า เราสามารถนำพาสังคมของเราไปสู่ความสวยงามและมีคุณค่ากว่าเดิมได้ ผมมองไม่เห็นว่าทำไมเราต้องจำนนทนอยู่กับสิ่งเดิมๆ เพียงเพราะมันอยู่มานาน เราเลือกได้ และเมื่อเราถูกต้อนไปสู่มุมอับที่ดูเหมือนไม่มีทางเลือก เราก็สามารถปฏิเสธทางเลือกที่คนอื่นยื่นให้เราได้ เช่นเดียวกับที่เราปฏิเสธผงชูรส สารกันบูด สีฟอก ฯลฯ เพราะเรารู้ว่าในระยะยาวมันอาจทำให้เราเป็นมะเร็งได้
ปัญญาของคนเราเกิดมาจากการรับสารความคิดหลากหลาย มีใครบ้างที่ร่างกายแข็งแรงจากการเสพข้าวขาหมูอย่างเดียวทุกมื้อทุกวัน? สมองของคนเราก็ต้องการสารอาหารทางปัญญาครบห้าหมู่ ไม่ว่าเราจะรับสารความคิดมาจากการศึกษา ประสบการณ์ หรือผ่านศิลปะ ยิ่งมีทางเลือกมาก ก็ยิ่งทำให้เรารู้จักคิดมากขึ้น และท้ายที่สุดแล้วสังคมก็จะได้คนที่มีคุณภาพมากขึ้น และสังคมยิ่งมีคนมีคุณภาพมากขึ้นเท่าไร คุณภาพชีวิตของเราก็ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น ไม่เพียงแต่ทำให้เราจะเป็นคนฉลาดขึ้น เราจะมีความสุขขึ้น
สำหรับข้อที่สอง : เรามีความสามารถเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือ ทั้งในแง่นายทุนและผู้สร้างสรรค์งาน? นี่เป็นคำถามที่ท้าทายความคิด โดยเฉพาะคนที่เชื่อว่า สภาพทางการตลาดทำให้เราเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ แต่จริงหรือ?
สำหรับความเห็นที่ว่า ในชีวิตจริงของแต่ละคนก็เหน็ดเหนื่อย กลับถึงบ้านก็ไม่อยากรับรู้อะไรที่หนักหัวอีก ข้อแย้งคือการเบื่อชีวิตจริงและความอยากหนีความจริงเข้าไปในโลกแห่งจินตนาการเป็นคนละเรื่องกับการเดินย้อนรอยศิลปะแบบเดิม
ความเห็นว่า 'ชีวิตจริงของคนบางคนน้ำเน่าเสียยิ่งกว่านิยายเสียอีก' นั้นเป็นความจริงแน่นอน แต่นี่ก็เป็นคนละเรื่องกับความจำเจของเนื้อหา เพราะในมุมมองของศิลปะ แก่นเรื่องเดิมๆ ก็สามารถนำเสนอได้ใหม่อย่างสร้างสรรค์ ตัวอย่างความบันเทิงมากมายในโลกที่สามารถสอดสาระเข้ากับความบันเทิงและยกระดับผู้เสพ ทำให้เราต้องถามตัวเองว่า ถ้าเรารู้ว่าเราสามารถส่งเสียลูกให้เรียนจบปริญญาได้ เราจะยอมให้เขาจบแค่ชั้นอนุบาลหรือ?
ผมทำงานในวงการสร้างสรรค์มานานพอที่กล้ายืนยันได้ว่า ศิลปะไม่มีข้อจำกัดอย่างที่คนไม่น้อยชอบใช้เป็นข้ออ้าง ผมไม่เห็นด้วยว่าคนสร้างไม่มีปัญญาคิดเรื่องใหม่ๆ
สำหรับประเด็นที่ว่า แนวทางละครเปลี่ยนไม่ได้เพราะการตลาดหรือเรตติ้งบังคับนั้น เราอาจดูตัวอย่างจากที่ในสมัยหนึ่งทุกคนในประเทศไทยมีความพอใจอย่างยิ่งกับการดูหนังวิดีโอคาสเส็ตต์ จนเมื่อเทคโนโลยีวีซีดีเข้ามา วิดีโอคาสเส็ตต์ก็หายไปอย่างรวดเร็ว และเมื่อดีวีดีเข้ามา วีซีดีก็ค่อยๆ กลายเป็นอดีตที่ไม่มีใครแยแส
ลองคิดดูเล่นๆ หากตีสามคืนนี้ผู้ผลิตละครโทรทัศน์ทุกรายถูกมนุษย์ต่างดาวจับไปล้างสมอง และวันพรุ่งนี้หันมาผลิตแต่หนังคุณภาพระดับสารอาหารครบห้าหมู่ ประชาชนก็ย่อมไม่มีทางเลือกนอกจากจะรับ และบางทีเมื่อพวกเขารู้รสของ 'ดีวีดี' ก็อาจไม่มีวันหวนกลับไปหา 'วิดีโอคาสเส็ตต์' อีก!
ทว่าเนื่องจากเราไม่มีมนุษย์ต่างดาวมาช่วยตัดสินใจแทนให้ เราก็ต้องเลือกเอาเอง จะเลือกที่จะเปลี่ยนมาก เปลี่ยนน้อย หรือไม่เปลี่ยนเลยก็อยู่ที่เราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นทางใด อย่างน้อยที่สุดในด้านคนสร้างสรรค์งาน ก็ควรมีความรับผิดชอบส่วนหนึ่งในการไม่ใส่สารเมลามีนทางความคิดแก่คนดู ในด้านคนเสพ ก็มีความรับผิดชอบในการกลั่นกรอง รู้จักปฏิเสธสารพิษทางความคิดให้ลูกหลาน
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกอย่างทุกจุดของสิ่งเดิมจะเป็นเรื่องแย่ที่ต้องรื้อถอน หากรู้จักเลือกองค์ประกอบเดิมที่ดีมาใช้ เราก็อาจนำพาละครไทยไปสู่ความบันเทิงแบบไทยๆ ที่มีคุณค่าได้เช่นกัน
เราอาจเดินไปไม่ถึงโลกแห่งความสมบูรณ์แบบ แต่หากเราลองเดิน อย่างน้อยที่สุดเราก็น่าจะได้โลกที่ดีขึ้นกว่าเมื่อวานนี้
และนี่มิใช่เรื่อง 'เหนือจริง' แต่อย่างไร
(* นี่เป็นคำถามที่ตั้งให้ Yahoo! รู้รอบ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551)
วินทร์ เลียววาริณ
13 ธันวาคม 2551
จากคุณ : ชั้นมาทำอะไรที่นี่ - [ 19 ม.ค. 52 12:00:12 ]