ยินดีต้อนรับสู่บ้านอบอุ่นของคนรัก บอย สพล ชนวีร์

วิธีการเขียนบทละครโทรทัศน์/หัวใจสำคัญ ว่าด้วยการเขียนบทภาพยนตร์

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ นานะจัง

  • *
  • 7234
  • -3
  • เพศ: หญิง
  • นิศาอรพินท์
    • อีเมล์

ขอขอบคุณ  คุณ ปลายลมหนาว  จากพันทิปด้วยค่ะที่แนะนำ เว็บเกี่ยวกับการเขียนบทภาพยนตร์
http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A8342842/A8342842.html


เครดิต http://www.thaishortfilm.com/board/viewtopic.php?t=344

Formatt of Script By  scenesmaker

สำหรับการเขียนบทหนังสั้น สามารถอ่านได้ในเมนู บทความ>ความรู้พื้นฐาน>การเขียนบทหนังสั้น ซึ่งก็ได้ให้ความรู้เรื่องขั้นตอนการเขียนบทภาพยนตร์ไว้อย่างละเอียดดีแล้ว แต่ที่จะนำเสนอในวันนี้ จะเน้นไปในทางรูปแบบหรือformattของการเขียน อาจจะมีบางอย่างที่ไม่ตรงกัน ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการทำงาน หวังว่า จะทำให้รู้สึกว่าการเขียนบทง่ายมากขึ้น

ขั้นตอนการเขียนบทหนังสั้น
1. Research
2. Theme
3. Plot
4. Synopsis
5. Treatment
6. Scenario
7. Paradigm
8. Screenplay
9. Shooting script
10. Storyboard

Research
ต้องยอมรับว่า คนทำหนังสั้น ส่วนใหญ่จะละเลยในขั้นตอนนี้ ซึ่งที่จริงแล้วการresearchเป็นสิ่งสำคัญนะ บางคนอาจจะไม่รู้วิธีการหรือไม่รู้foramttก็ไม่ว่ากัน เลยอยากจะคุยกัยในวิธีการคร่าวๆ ของขั้นตอนนี้
หนังเกี่ยวข้องกับมนุษย์ เราก็เป็นมนุษย์ เราเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง? นั่นแหละคือสิ่งที่ตัวละครเกี่ยวข้อง
เราอาจจะต้องมีตัวละครในใจแล้วสักคนหนึ่ง การresearchเป็นการหารายละเอียดของตัวละครมาหาใส่ ที่จริงการresearchไม่มีformatt จุดประสงค์คือเก็บเกี่ยวข้อมูลของตัวละครให้ได้มากที่สุด สร้างเป็นประวัติของตัวละคร อะไรบ้างลองมาดูกัน
1.ชื่อ เช่น ชื่อชาวมุสลิม ฉายาของพระสงฆ์ ชื่อตัวละครเชื้อชาติอื่น(มีหนังไทยอยู่เรื่องหนึ่ง ตั้งชื่อดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศสด้วยภาษาอิตาลี) ถ้าเราไม่รีเสิรช อาจจะทำให้ใช้ภาษาผิด
2.อายุ อายุของตัวละครทำให้เรารู้ว่าตัวละครนั้นผ่านยุคสมัยอะไรมาบ้าง เคยผ่านสถานการณ์บ้านเมืองอะไรมา ผู้ใหญ่บางคนพูดว่ายี่เก ม.ศ.5 ในขณะที่เด็กสมัยเรียกว่า ช่วงชั้นที่4ปีที่2
3.ภูมิลำเนาวิถีชีวิตของคนแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน คำศัพท์บางคำก็ต่างกัน สำเนียงก็ต่างกัน ทัศนคติต่อสังคมก็ไม่เหมือนกัน ตัวละครบางตัวเกิดปมขัดแย้งในเรื่องการเป็นคนแปลกถิ่น ธรรมเนียมหรือกฎหมายของแต่ละประเทศก็ต่างกัน
4.ระดับการศึกษาจะมีผลต่อวุฒิภาวะของตัวละคร ภาษาที่ใช้ มุมมองต่อสังคม การควบคุมอารมณ์
5.อาชีพเป็นปัจจัยที่สร้างตัวตนของตัวละครที่ชัดเจนมากอย่างหนึ่ง
ศัพท์ในอาชีพ ตำรวจก็มีวิธีการพูดแบบตำรวจแม้แต่ในคำพูดนอกเหนือจากการปฏิบัติงาน ครูสอนภาษาอังกฤษก็จะมีรูปแบบการใช้ประโยคที่ยืมมาจากภาษาอังกฤษ
กิริยาท่าทางศิลปินแกะสลัก ก็ปอกผลไม้ไม่เหมือนคนทั่วไป คนเล่นโขนก็มีท่วงท่าการเดิน-วิ่งที่สง่างาม
รูปพรรณสัณฐานบางอาชีพทำให้ร่างกายมีเอกลักษณ์ เช่น นักมวย ทหาร กรรมกรกลางแจ้ง แม่ครัวที่อยู่หน้าเตา
เอกลักษณ์ที่เกิดจากการประกอบอาชีพนี้ เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ที่ทำให้นักแสดงกลายเป็นตัวละครของเรามากขึ้น
6.ฐานะการเงินเป็นพื้นฐานชีวิตของตัวละครเลยก็ว่าได้ เพราะมันส่งผลไปถึงรายละเอียดต่างๆของตัวละคร เช่น สภาพที่อยู่อาศัย พฤติกรรมการบริโภค เสื้อผ้า อาหาร ยี่ห้อของข้าวของเครื่องใช้ วิธีการเดินทาง รวมไปถึงความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าบางอย่าง
7.กลุ่มทางสังคมเช่นแก๊งส์มอเตอร์ไซค์ แก๊งส์รถแต่ง เด็กแนว ฯ บางกลุ่มมีภาษาเฉพาะ เช่นกระเทย เดื๋อย หมายถึง เพื่อนรัก เพื่อนสนิท เรียกแทนชื่อเพื่อน ไปไหนมาเดื๋อย รอนานแล้วนะเดื๋อย หรือเบเกอรี่ มีความหมายเดียวกับคำว่า ปาดหน้าเค้ก ตั้งหม้อ ลูกชุบ หมายถึง การแย่งชิงสิ่งของ หรือ บุคคลอันเป็นที่หมายปองของเราไป เช่น ดูนังแอนสิยะ พอเห็นผู้ชายหล่อมา นางก้อเบเกอรี่สุดฤทธิ์ เป็นต้น
วัยรุ่น(บางกลุ่ม)เฮ้อ...วันนี้อารมณ์แฟ๊งค์สุดๆ เลยออกไปเดินเล่นชิวชิวข้างนอก
8.ตัวละครพิเศษ เช่น คนบ้า คนวิกลจิต คนป่วย ต้องรีเสิรชว่าเป็นประเภทไหน มีอาการอย่างไร หรือ ภาษามือ ภาษาเขียนของคนหูหนวกเป็นใบ้ ก็มีรูปแบบเฉพาะ
9.ความต้องการในชีวิต คนทุกคนมีความต้องการในชีวิต เราอาจจะออกแบบความต้องการของตัวละครได้ แต่การรีเสิรชจะทำให้เรารู้ว่าเหตุผลที่เราคิดขึ้นนั้นสอดคล้องกับความเป็นจริงเพียงใด วิธีการที่ตัวละครปฏิบัติให้ได้มาซึ่งเป้าหมายนั้นก็ต่างกันไป ยิ่งตัวละครไกลจากเราเท่าไหร่ยิ่งจำเป็นต้องรีเสิรช เช่น วิธีแก้ปัญหาของเด็ก การยอมรับความสูญเสียคนรักของพยาบาล

ที่กล่าวมาอาจจะเป็นแค่ประวัติตัวละครกว้างๆ ที่จะนำไปสนับสนุนพฤติกรรมต่างๆของตัวละครเมื่อมีสถานการณ์ต่างๆเข้ามา แต่ตัวละครของหนังแต่ละเรื่องก็จะมีบุคลิกภาพเฉพาะ และสถานการณ์แตกต่างออกไป จึงควรมีการรีเสิรชตัวละครกับสถานการณ์ตามที่ออกแบบด้วย วิธีรีเสิรชที่ดีที่สุดคือการรีเสิรชจากบุคลที่ใกล้เคียงกับตัวละครของเราที่สุด และลองตั้งคำถามกับเขาว่าถ้าต้องเจอกับสถานการณ์ตามที่เราออกแบบ จะมีมุมมองหรือวิธีแก้ปัญหาอย่างไร
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วขึ้นอยู่กับวิจารณญานของผู้เขียนบทอีกทีครับ ว่าจะหาเหตุผลมาให้คนดูเชื่อได้รึเปล่า



 
ตัวอย่างการเขียนบท ที่จะพัฒนาในขั้นตอนต่อๆไป
แรงบันดาลใจ ก่อนไปResearch
ผมเห็นคนแก่คนหนึ่ง ซึ่งรู้มาว่าลูกหลานของแกก็ร่ำรวย มีเงินฝากเป็นแสนๆ บ้านก็ใหญ่โต แต่ทำไมแกถึงยังขี่จักรยาน ไปทอดแหหาปลา มาขายตรงตามบ้าน
อีกคนก็เหมือนกัน ลูกๆต้องยอมให้แกอยู่บ้านหลังเก่า ทั้งที่มีบ้านใหม่ เงินทองก็มีให้ใช้ แต่แกก็ยังคงเก็บขวดพลาสติกชั่งกิโลขาย
อีกคน ทุกวันแกต้องเดินไปบ้านเพื่อนวัยเดียวกัน เพื่อเหลาโครงว่าว ทำว่าว เล่นว่าวเหมือนเด็กๆ หมกมุ่นอยู่กับว่าว พอตกเย็นถึงกลับบ้าน
เกิดอะไรขึ้นกับคนแก่เหล่านี้ เขาเป็นใคร มาจากไหน เคยทำอาชีพอะไร ฐานะเป็นอย่างไร มีความขัดแย้งอะไร ชีวิตเขาเป็นยังไงกันแน่



ออฟไลน์ นานะจัง

  • *
  • 7234
  • -3
  • เพศ: หญิง
  • นิศาอรพินท์
    • อีเมล์
Re: วิธีการเขียนบทละครโทรทัศน์
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 21, 2009, 10:00:53 AM »
Theme
แปลได้ว่า แก่น ใจความสำคัญ แนวคิดหลัก สาร ประเด็น ฯ หนังสั้นที่ได้ผลดี ควรจะมีthemeเพียงหนึ่งเดียว คือมีประเด็นหลักที่ต้องการจะสื่อสารเพียงหนึ่งสิ่ง เพราะเวลาที่สั้นทำให้ไม่สามารถเล่าประเด็นหลายๆประเด็นได้อย่างสมบูรณ์

การเขียนtheme ไม่ได้ต้องใช้คำสวยหรู ไม่ได้เป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจยาก ไม่ต้องเป็นปรัชญา ไม่จำเป็นต้องเป็นแนวคิดสากล เป็นความแนวคิดส่วนตัวก็ได้ เพียงแต่เราต้องมีความเชื่อในแนวคิดหรือthemeนั้นๆ และมีมุมมองที่จะนำเสนอ เหมือนกับการที่เราจะโน้มน้าวใจเรื่องอะไรสักเรื่องกับใครสักคน ถ้าเราไม่เชื่อในแนวคิดนั้นแล้ว มุมมองที่จะใช้ถ่ายทอด ชักจูง ต่อต้านฯ ก็จะไม่แม่น

รูปแบบหรือformattของtheme มักจะเป็นประโยคสั้นๆ ที่มีความชัดเจน themeเป็นประเด็นหรือแนวคิดสำคัญที่คนเขียนบทต้องการจะบอก โดยหาสถานการณ์ต่างๆมารองthemeนั้น บางคนก็เอามาจากสำนวน สุภาษิต คำพังเพย เช่น
กล้านักมักบิ่น
ฆ่าควายอย่าเสียดายพริก
ปล่อยเสือเข้าป่า

จากคำคม เช่น
"Praise the bridge that carried you over."
- George Colman -
จงขอบคุณสะพานที่ให้คุณเดินข้ามมา
"Well done is better than well said."
- Ben Franklin-
การลงมือทำดีกว่าคำพูดที่สวยหรู

หรือthemeของบางคน ไม่ได้เป็นสำนวนเปรียบเทียบ หรือปรัชญาอะไรเลย เพียงแต่ชัดเจนในเรื่องที่จะเล่า เช่น
เล่นดนตรีทำให้ลืมความทุกข์
หลังคารั่วก็ไปอุดรูหลังคา ไม่ใช่เอากะละมังมารองน้ำฝน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนหน่อยในเรื่องthemeคือ ภาพยนตร์โฆษณา และมิวสิควิดีโอ จะมีรูปแบบการนำเสนอใกล้เคียงกับหนังสั้น หนังโฆษณานี่เป็นตัวอย่างที่ดีเลย เพราะหนังโฆษณาแต่ละเรื่องจะมีthemeที่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับแผนการตลาดของสินค้าด้วย เช่น ชีวิตมีเรื่องดีดีตั้งเยอะ!! อย่างMVก็จะมีเนื้อหาของเพลงเป็นแนวทางอยู่แล้ว ซึ่งเพลงหนึ่งเพลงก็มักจะมีแนวคิดสำคัญเพียงอันเดียว
ในภาพยนตร์ขนาดยาวก็ต้องมีประเด็นที่เป็นthemeหลัก(ประเด็นอื่นๆอาจจะป็นsubtheme) เช่น
เซื่อในสิ่งที่เฮ็ด เฮ็ดในสิ่งที่เซื่อ (15ค่ำ เดือน11)
พลังที่ยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่(Spiderman)


เชื่อว่านักทำหนังสั้นหลายคน ไม่ได้เกิดไอเดียแรกจากthemeหรือแนวคิด ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากคิดโครงเรื่องสั้นๆได้ , พัฒนาจากงานเขียน , ดัดแปลงเรื่องจริง , อยากทำหนังแนวนี้ , ทำตามหัวข้อประกวด ฯลฯ แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่คนเขียนบทหรือผู้กำกับจะต้องรีบสรุปว่า เรื่องที่จะเขียนนี้ จะยึดประเด็นอะไร เป็นthemeสำคัญ

ถ้ายังงงๆ ขอสมมติอย่างนี้ละกัน ถ้าเรื่องจริงที่รู้มาคือ
เพื่อนเราคนหนึ่ง แอบชอบผู้หญิงห้องตรงข้าม มานานน..แล้ว แต่ไม่กล้าทำอะไรสักที จนกระทั่งวันหนึ่ง เพื่อนอีกคนไปเยี่ยมที่ห้อง ไปเจอผู้หญิงคนนั้นเข้า เลยเข้าไปจีบ แล้วคาบไปรับประทาน
เรื่องเดียวกัน คนเขียนบทแต่ละคนอาจมีแนวคิดต่างกัน
เช่น
คนที่1.กำหนดthemeว่า อย่าอยู่อย่างอยาก หนังเรื่องนี้ก็จะนำเสนอผลของการอยู่อย่างอยาก อยากแล้วไม่ยอมทำอะไร ผลของการไม่ทำอะไรตามที่อยาก จึงเห็นผลเสียของการทำแบบนั้น สุดท้ายแล้วหนังอาจจะพิสูจน์themeว่า ถ้าลองเปลี่ยนวิธี มากล้าทำในสิ่งที่อยาก ก็ยังไม่สายเกินไป สรุปแล้วหนังกำลังบอกคนดูว่า อย่าอยู่อย่างอยาก ไม่มีอะไรดีขึ้น น้ำหนักของเรื่องส่วนใหญ่อยู่ที่ตัวละครที่อยาก แต่ไม่กล้า

คนที่2.อาจจะมองว่า มันอาจจะเกี่ยวข้องกับประเด็น ด้านได้ อายอด การนำเสนอของหนังเรื่องนี้ก็เปรียบเทียบเรื่อง ด้าน กับ อาย เห็นไหมว่าผู้กำกับคนที่2นี้ เชื่อว่ามันขึ้นอยู่กับการไขว่คว้า คาแรคเตอร์ของผู้ชายสองคนที่ชอบผู้หญิงคนเดียวกัน ก็ต่างกันชัดเจนมากขึ้น หนังกำลังจะบอกให้คนดูลองเปรียบเทียบวิธีการสองด้าน น้ำหนักของตัวละครผู้ชาย2คนนี้ อาจจะเท่าๆกัน

คนที่3. อาจจะมองว่า คารมเป็นต่อ รูปหล่อเป็นรอง เริ่มมีแนวคิดที่ซับซ้อนมากขึ้น คาแรคเตอร์ของผู้ชายสองคนนี้ ก็จะต่างกันชัดเจนขึ้นอีก มีเรื่องของหน้าตาและบุคลิกเข้าเกี่ยวข้อง โดยเทความเชื่อไปให้คนพูดเก่งมีชัยกว่าคนหน้าตาดีด้วย

เห็นไหมว่าเรื่องเดียวกัน ถ้ามองthemeไม่เหมือนกัน รายละเอียดของเรื่องก็จะแตกต่างออกไป ในทางกลับกัน themeเดียวกัน ก็สามารถเขียนเป็นเรื่อง หลายเรื่องได้



 
ตัวอย่างการเขียนบท ที่จะพัฒนาในขั้นตอนต่อๆไป
Themeคุณค่าของคนแก่ อาจไม่ใช่การได้รับความสะดวกสบาย แต่อยู่ที่การได้เห็นว่าตนยังมีคุณค่า

ออฟไลน์ นานะจัง

  • *
  • 7234
  • -3
  • เพศ: หญิง
  • นิศาอรพินท์
    • อีเมล์
Re: วิธีการเขียนบทละครโทรทัศน์
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กันยายน 21, 2009, 10:01:50 AM »
Plot
ความหมายตามDictionary
n.ที่ดินแปลงเล็ก, แผนการ, แผนการลับ, แผนที่, แผนผัง, เครื่องมือลากเส้นและวัดมุม
vt. วางแผนลับ, เขียนแผนที่, เขียนแผนผัง, กำหนด
vi. วางแผนลับ, คบคิดวางแผน

ความหมายข้างต้นทำให้เราเข้าใจวัตถุประสงค์หรือประโยชน์ของการเขียนPlotได้ชัดเจนขึ้น เคยได้ยินคำว่า พล็อตกราฟ ไหมครับ การพล็อตกราฟคือการที่เราทราบค่าพิกัดของตำแหน่ง แล้วกากบาทกำหนดไว้เป็นจุดๆ ก่อนลากเส้นเชื่อมต่อ

การเขียนพล็อตก็เหมือนกัน มันเปรียบเสมือนการทำแผนที่ แผนผัง การทำพล็อตหนังสั้น ผมแนะนำให้พล็อตไว้ 3 จุดครับ คือ
1.จุดเริ่มต้น
2.จุดหักเห
3.จุดจบ

จุดเริ่มต้น
อย่างน้อยควรรู้ว่าตัวละครคือใคร สถานการณ์ทั่วไปเป็นอย่างไร
จุดหักเห
คือสถานการณ์ที่ตัวละครนั้นเจอ ในหนังสั้นมักจะเป็นสถานการณ์ที่ไม่ซับซ้อนนัก เป็นปัญหาที่ชัดเจนที่สุดของตัวละคร
จุดจบ
คือสถานการณ์ที่เป็นจุดเข้มข้นสุดของเรื่อง ก่อนที่จะคลี่คลายหรือจบลง

การเขียนplotนี้ก็เพื่อความชัดเจนของคนเขียนบทเอง ไม่จำเป็นต้องกั๊กหรือปิดบังตอนจบเหมือนพวกคำโฆษณาหนัง บ่อยครั้งที่เห็นนักทำหนังมือใหม่เขียนplotแบบกั๊กตอนจบไว้ เช่น
ชายคนหนึ่งแอบชอบสาวในซอยเดียวกัน พยายามหาโอกาสบอกรัก แต่ก่อนที่จะได้บอกก็สายเสียแล้ว

การเขียนplotเป็นจุดเริ่มต้นของการเขียนบท ดังนั้นอยากให้ชัดเจนกันมากๆครับ ผมจะลองยกตัวอย่างการเขีบนplot ที่ชัดเจนและจะช่วยให้ทำงานง่าย
-มือปืนเบอร์หนึ่ง ทำงานพลาด จึงถูกตามเก็บด้วยมือปืนที่เป็นลูกน้องตัวเอง ในที่สุดดวลกันตายทั้งคู่
-ภารกิจสุดท้าย ในวันสุดท้ายของการทำงานในฐานะลูกกระจ๊อกตัวร้าย ก่อนที่จะถูกฆ่าตายโดยฮีโร่
- วิศวกรหญิงผู้โดดเดี่ยว เกิดหลงรักหุ่นยนต์ที่ตัวเองซ่อม จนตัดสินใจทำตัวเองกลายเป็นหุ่นยนต์
- กลุ่มนักศึกษาสาวเอกการถ่ายภาพ ถูกฆ่าตายอย่างลึกลับทีละคนๆ จนเหลือคนสุดท้าย ได้รู้ความจริงว่าแฟนของเธอเองนั่นแหละที่เป็นฆาตกร



 
ตัวอย่างการเขียนบท ที่จะพัฒนาในขั้นตอนต่อๆไป
Plot ชายชรา ยอมเลิกกิจการซ่อมรองเท้าในตลาด ย้ายไปอยู่กับลูกชายและสะใภ้ในบ้านใหญ่โต แต่กลับพบว่าชีวิตไม่มีคุณค่า จึงแอบหนีไปซ่อมรองเท้าในตลาดอย่างเดิม

ออฟไลน์ นานะจัง

  • *
  • 7234
  • -3
  • เพศ: หญิง
  • นิศาอรพินท์
    • อีเมล์
Re: วิธีการเขียนบทละครโทรทัศน์
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: กันยายน 21, 2009, 10:02:40 AM »
Synopsis
n. สรุป, สรุปความ, ข้อใหญ่ใจความ, สาระสำคัญ

ในทางการเขียนบท เรามักเรียกSynopsisว่า เรื่องย่อ รูปแบบการเขียนsynopsisของหนังสั้น มักจะเป็นความเรียง เล่าเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบอย่างย่อ มีความยาวประมาณ5-6บรรทัด เล่าตัวละครและเหตุการณ์เพื่อสรุปว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ฯ ด้วยมุมObjectiveของคนเขียนบทเอง คล้ายๆกับการเขียนเรื่องย่อบนปกหลังกล่องVCD แต่อย่างที่บอก ไม่ต้องกั๊กตอนจบ
ในขั้นนี้แนะนำให้เขียนเรื่องให้ได้3ย่อหน้า (เหมือนเขียนเรียงความ มีคำนำ เนื้อเรื่อง สรุป)โดยยึดจากหลักจากการเขียนplot
อาจจะเป็น
ย่อหน้าของจุดเริ่มต้น2บรรทัด
ย่อหน้าของจุดหักเห3บรรทัด
และย่อหน้าของจุดจบ1บรรทัด




 
ตัวอย่างการเขียนบท ที่จะพัฒนาในขั้นตอนต่อๆไป
Synopsis
-ชายชรา ทำอาชีพซ่อมรองเท้าอยู่ในตลาด ให้บริการแก่ลูกค้าทุกระดับด้วยความภาคภูมิใจ ตกเย็นก็กลับบ้านริมน้ำหลังเก่า เช้าวันหนึ่งลูกชายและลูกสะใภ้มารับไปอยู่บ้านหลังใหม่ที่เพิ่งสร้างเสร็จ
-ชายชราย้ายไปอยู่บ้านหลังใหญ่ ไม่ได้ไปซ่อมรองเท้าที่ตลาดอีก ที่บ้านใหม่มีเครื่องใช้อำนวยความสะดวกมากมาย ทีวี ตู้เย็น โซฟา อาหารการกินสมบูรณ์ แต่ในทุกๆวันกลับต้องถูกทิ้งให้อยู่บ้านคนเดียว เพราะลูกชายและลูกสะใภ้ต้องออกไปทำงาน วันหนึ่งชายชราเดินไปหลังบ้าน ไปพบกับรองเท้าเก่าของลูกชาย จึงแอบเอาไปซ่อมที่ร้านของตน จนกระทั่งตกเย็น ลูกชายตามหา มาพบเข้า
-ในที่สุด ลูกชายก็ยอมให้ชายชราคนนั้น กลับไปซ่อมรองเท้าในตลาดอย่างเดิม

ออฟไลน์ นานะจัง

  • *
  • 7234
  • -3
  • เพศ: หญิง
  • นิศาอรพินท์
    • อีเมล์
Re: วิธีการเขียนบทละครโทรทัศน์
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: กันยายน 21, 2009, 10:05:00 AM »
Treatment
n. การรักษา, การเยียวยา, การปฏิบัติต่อ, การกระทำต่อ, วิธีการทางวรรณกรรม

treatment ในการเขียนบท หมายถึงโครงเรื่องขยาย คือมีการเขียนคำอธิบายขยายเนื้อเรื่องชัดเจนมากขึ้น เหมือนรูปแบบของนวนิยายหรือเรื่องสั้น มีการบรรยายรายละเอียดต่างๆที่จำเป็นต่อการเล่าเรื่อง เช่น ชื่อตัวละคร ลักษณะตัวละคร สถานการณ์ต่างๆ สถานที่ วัน เวลา เหตุผลของตัวละคร ฯ แต่ยังไม่มีบทสนทนา (นอกจากว่า จะเป็นประโยคสำคัญ)
treatmentหนังสั้น มักมีความยาวประมาณ 1 หน้ากระดาษ A4 เป็นบทที่นิยมมอบให้คนอื่นอ่าน เพราะจะมีรายละเอียดที่มากพอจะเล่าเรื่องได้สมบูรณ์แล้ว ด้วยเหตุนี้ จึงมักตั้งชื่อตัวละครไปด้วย
อย่างที่เคยกล่าวมาว่า ชื่อตัวละครของหนังสั้นที่ดี ควรจะสื่อถึงcharacterด้วย ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้ถึงกับสื่อสารได้ทันที แต่ก็ดีกว่าไม่ใช่หรือ ถ้าเราจะไม่ได้คิดมามั่วๆ




 
ตัวอย่างการเขียนบท ที่จะพัฒนาในขั้นตอนต่อๆไป
ชื่อตัวละคร
ชายชรา ช่างซ่อมรองเท้า ชื่อ ลุงสม (สม =1.เหมาะ, ควร, รับกัน. 2.ร่วมด้วยกัน, รวมกัน. 3.ความสงบ, ความราบคาบ 4.เท่ากัน, เสมอกัน, เช่น สมดุล สมมูล) เสมือนว่าเป็นตัวละครที่ ต้องการความสมดุล อยากมีวิถีชีวิตที่เหมาะกับตัวเอง
ลูกชายลุงสม ชื่อ สมบัติ มีลักษณะของการใส่ชื่อพ่อ ไว้ในชื่อลูก ตามที่นิยมกันของคนสมัยก่อน (สมบัติ = ความถึงพร้อม หมายถึง ทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้ที่มีอยู่ เป็นต้น.) เป็นตัวละครที่พยายามหยิบยื่นวัตถุ ทรัพย์สิน เงินทอง ให้พ่อ
ลูกสะใภ้ เมียสมบัติ ชื่อ ศรี (ศรี = 1.มิ่ง,สิริมงคล 2.ความรุ่งเรือง, ความเจริญ 3.ความงาม,ความสว่างสุกใส) เป็นตัวละครที่ยึดติดกับความเป็นสิริมงคล ความเป็นสง่าราศรี จนมองว่าอาชีพซ่อมรองเท้าดูไม่น่ายกย่อง

Treatment
ที่ตลาดสดริมคลอง ย่านชานเมือง ลุงสม ชายชราอายุราว 70 ปี ช่างซ่อมรองเท้า นั่งทำงานของตนอยู่ที่มุมประจำทุกวันๆ ด้วยใบหน้าที่ปราศจากความทุกข์ใดๆ ทักทายผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาอย่างเป็นกันเอง เสมือนลูกหลานญาติมิตร ตกเย็นลุงสมเก็บของเล็กๆน้อยๆเข้ากระเป๋า ส่วนของหนักๆอย่างทั่ง ฆ้อน ก็ทิ้งไว้ที่ร้าน ลุงสมเดินกลับบ้านริมน้ำ นั่งกินข้าวกับแมวพเนจรที่มาอาศัยชายคาด้วย
เช้าวันใหม่ ลุงสมตื่นแต่เช้าเตรียมตัวจะไปตลาด หันไปเห็นสมบัติ ลูกชายอายุ35 และ ศรีลูกสะใภ้ อายุราว30 ขับรถมาจอดรถหน้าบ้าน สมบัติบอกว่าวันนี้จะมารับพ่อไปอยู่บ้านหลังใหม่

ที่บ้านหลังใหม่ ลุงสมเคอะๆเขินๆกับข้าวของเครื่องใช้ต่างๆภายในบ้านหลังใหญ่ คืนแรกถึงกับนอนไม่หลับ กว่าจะหลับก็เกือบสว่าง ตื่นมาตอนสายๆก็พบว่าสมบัติกับศรีออกไปทำงานแล้ว แต่ได้จัดเตรียมอาหารไว้เป็นอย่างดี ทั้งวันลุงสมก็ไม่รู้จะทำอะไร ได้แต่นั่งๆนอนๆ ตอนเย็นสมบัติกับศรีซื้อข้าวปลาอาหารมามากมาย ซื้อเสื้อผ้าและรองเท้าคู่ใหม่มาให้ลุงสม และศรีก็ซื้อรองเท้าคู่ใหม่มาให้สมบัติด้วย
วันรุ่งขึ้น ลุงสมนั่งดูทีวีอยู่บนโซฟาอย่างเบื่อหน่ายอยู่คนเดียว พอตกเย็นลูกชายกับลูกสะใภ้ก็กลับมา สมบัติบอกลุงสมว่า เพื่อนบ้านจับนกเขาได้ เดี๋ยวพรุ่งนี้ตอนกลางวันเขาจะเอามาให้ พ่อก็รับไว้ละกัน พ่อจะได้มีอะไรทำแก้เบื่อ
บ่ายวันต่อมา ลุงสมเล่นกับนกเขาในกรง แต่ดูมันช่างเหงาหงอยเหลือเกิน ลุงสมเลยเดินเลี่ยงไปหลังบ้าน ไปพบกับรองเท้าคู่เก่าของลูกชายเข้า ก็อดไม่ได้ที่จะเอามาซ่อม แต่ก็ไม่มีทั่ง ลุงสมเลยตัดสินใจหิ้วรองเท้าคู่นั้น เดินออกจากบ้านไปที่ร้านเป็นระยะทางเกือบ3กิโล และรองเท้าคู่ใหม่ที่ลูกสะใภ้ซื้อให้ก็กัดเท้าจนแดง
ลุงสมนั่งซ่อมรองเท้าลูกชายอยู่ที่ร้านจนเสร็จ ก็เดินกลับมาถึงที่บ้านริมน้ำตอนเย็นๆ นั่งขัดรองเท้าอยู่อย่างขะมักเขม้น แมวพเนจรตัวนั้นนั่งมองลุงสมอยู่ จนกระทั่งสมบัติกับศรีขับรถมาถึง สมบัติตรงไปหาพ่อด้วยความฉุนเฉียว แต่พอได้เห็นภาพว่าพ่อทำอะไรอยู่ ก็ถึงกับนิ่งอึ้ง ลุงสมบอกว่าซ่อมเสร็จพอดี ลองสวมดูว่าใช้ได้ไหม

เช้าวันรุ่งขึ้น ที่บ้านใหม่ ลุงสมสวมรองเท้าคู่เก่าเดินลงมาจากบ้าน ศรีเดินตามมาติดๆ เจ้าแมวตัวนั้นนอนอาบแดดอยู่หน้าบ้าน(มันถูกพามาด้วย) สมบัติเช็ครถเสร็จ กำลังปิดฝากระโปรงพอดี สมบัติเดินไปเปิดประตูรถให้พ่อนั่งหน้า ศรีนั่งหลัง ส่วนตนเองก็กำลังจะเดินไปด้านคนขับ เหลือบไปเห็นกรงนกเขา จึงแวะเปิดกรง ปล่อยนกไป ก่อนขึ้นรถขับออกไป
ที่ตลาด รถของสมบัติขับมาจอด ลุงสมเปิดประตูลงรถมา สมบัติตะโกนจากในรถ
"เดี๋ยวตอนเย็นผมมารับนะพ่อ"
ลุงสมยิ้ม พยักเพยิดหน้า แล้วเดินตรงไปยังร้านซ่อมรองเท้านั้น สมบัติใส่เกียร์ถอยหลัง แล้วเหยียบคันเร่ง ด้วยรองเท้าคู่เก่าที่พ่อซ่อมให้
-จบ-

ออฟไลน์ นานะจัง

  • *
  • 7234
  • -3
  • เพศ: หญิง
  • นิศาอรพินท์
    • อีเมล์
Re: วิธีการเขียนบทละครโทรทัศน์
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: กันยายน 21, 2009, 10:08:55 AM »
Scenario
scenario เป็นขั้นตอนต่อมาจาก treatment มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งฉากของtreatment ให้เห็นเป็นsceneชัดเจน และนิยมเขียนเป็นข้อๆว่า ในsceneเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพื่อคำนวณความยาวของแต่ละฉาก และคะเนได้ว่าทั้งเรื่องจะยาวเท่าไหร่ สำนวนการเขียนจะรวบรัด และใช้ภาษาอธิบายเหตุการณ์ การแสดง มากกว่าอธิบายความคิด หรืออารมณ์ตัวละคร

ในขั้นการเขียนscenario จะมีการเขียนหัวฉาก ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1.Scene Number เขียนว่า ฉาก1 หรือScene1หรือrunเป็นตัวอักษร ตามแต่ถนัด
2.ระบุว่าเป็นฉากภายนอกหรือภายใน
ฉากภายนอก หมายถึง ฉากที่อยู่กลางแจ้ง ไม่มีฝาผนัง หลังคา หรือสิ่งปกคลุม เช่น สนามกอล์ฟ ถนน สะพานลอย ทุ่งนา ดาดฟ้า ฯ หรือพูดง่ายๆว่าภายนอกจากอาคารหรือสิ่งปกคลุม นิยมเขียนว่า ภายนอกหรือExteriorหรือExt
ฉากภายในหมายถึง ฉากที่มีฝาผนังอย่างน้อย1ด้าน ภายในอาคาร อุโมงค์ใต้ดิน ในรถ ในบ้าน นิยมเขียนว่า ภายในหรือInteriorหรือInt
3.ชื่อฉาก หมายถึง ชื่อสถานที่นั้นๆ เช่น ห้องฉุกเฉิน สถานีตำรวจ ออฟฟิศฯ (ให้เขียนชื่อสถานที่ตามเนื้อเรื่อง ไม่ใช่ชื่อLocationจริง)
4.เวลา ให้เขียนเวลาตามเนื้อเรื่อง นิยมเขียน กลางวัน , กลางคืน หรือDay , Night แต่ถ้าจะระบุช่วงเวลาละเอียดกว่านั้นก็ได้ เช่น เช้าตรู่ ,เที่ยง , โพล้เพล้

ตัวอย่าง
ฉาก 7 ภายนอก/ชายหาดหน้ารีสอร์ท/กลางวัน
Scene5 Int/Cecilia's room/Day



 
ตัวอย่างการเขียนบท ที่จะพัฒนาในขั้นตอนต่อๆไป
Scenario
ฉาก1 ภายนอก/ร้านซ่อมรองเท้า/กลางวัน
-ลุงสมนั่งทำงานด้วยใบหน้าที่ปราศจากความทุกข์
-ทักทายผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมา
-ตกเย็นลุงสมเก็บของเล็กๆน้อยๆ ของหนักๆทิ้งไว้ที่ร้าน

ฉาก2 ภายใน/บ้านริมน้ำ/เย็น
-ลุงสมเดินกลับเข้าบ้านริมน้ำ นั่งกินข้าวกับแมว

ฉาก3 ภายนอก/บ้านริมน้ำ/เช้า
-ลุงสมเตรียมตัวจะไปตลาด หันไปเห็นสมบัติและศรีขับรถมาจอดรถ
-สมบัติบอกว่าวันนี้จะมารับพ่อไปอยู่บ้านหลังใหม่

ฉาก4 ภายใน/ห้องรับแขกบ้านหลังใหม่/กลางวัน
-ลุงสมเคอะๆเขินๆกับข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ

ฉาก5 ภายใน/ห้องนอน/กลางคืน
-ลุงสมนอนไม่หลับ

ฉาก6 ภายใน/ห้องรับแขกบ้านหลังใหม่/กลางวัน
-ลุงสมตื่นมาไม่พบใคร

ฉาก7 ภายใน/ห้องครัวบ้านหลังใหม่/กลางวัน
-อาหารถูกจัดเตรียมไว้เป็นอย่างดี

ฉาก8 ภายนอก/ม้านั่งหน้าบ้านหลังใหม่/กลางวัน
-ลุงสม นั่งๆนอนๆ

ฉาก9 ภายใน/ห้องรับแขกบ้านหลังใหม่/เย็น
-สมบัติกับศรีซื้อข้าวปลาอาหาร เสื้อผ้า และรองเท้าคู่ใหม่มาให้ลุงสม
-ศรีซื้อรองเท้าคู่ใหม่มาให้สมบัติ

ฉาก10 ภายใน/ห้องรับแขกบ้านหลังใหม่/เช้า
-ลุงสมนั่งดูทีวีอยู่บนโซฟาอย่างเบื่อหน่าย

ฉาก11 ภายใน/ห้องรับแขกบ้านหลังใหม่/เย็น
-สมบัติกับศรีกลับมา สมบัติบอกลุงสมว่าพรุ่งนี้เพื่อนบ้านจะเอานกเขามาให้

ฉาก12 ภายนอก/ม้านั่งหน้าบ้านหลังใหม่/กลางวัน
-ลุงสมเล่นกับนกเขาในกรง แต่ดูมันเหงาหงอย

ฉาก13 ภายนอก/หลังบ้านหลังใหม่/กลางวัน
-ลุงสมไปเจอรองเท้าคู่เก่าของสมบัติ
-ลุงสมพยายามซ่อม

ฉาก14 ภายนอก/หน้าบ้านหลังใหม่/กลางวัน
-ลุงสมหิ้วรองเท้าเดินออกจากบ้านไป

ฉาก15 ภายนอก/ถนน/กลางวัน
-ลุงสมเดินเท้า ระยะทางไกล
-รองเท้าคู่ใหม่ที่ลูกสะใภ้ซื้อให้ก็กัดเท้าลุงสม

ฉาก16 ภายนอก/ร้านซ่อมรองเท้า/กลางวัน
-ลุงสมนั่งซ่อมรองเท้าสมบัติจนเสร็จ

ฉาก17 ภายใน/บ้านริมน้ำ/เย็น
-ลุงสมนั่งขัดรองเท้าอย่างขะมักเขม้น

ฉาก18 ภายนอก/บ้านริมน้ำ/เย็น
-สมบัติกับศรีขับรถมาที่บ้านริมน้ำ
-สมบัติตรงไปหาลุงสมด้วยความฉุนเฉียว

ฉาก19 ภายใน/บ้านริมน้ำ/เย็น
-ลุงสมนั่งขัดรองเท้า
-สมบัติเห็นว่าพ่อซ่อมรองเท้าของตนแล้วถึงกับนิ่งอึ้ง
-ลุงสมบอกว่าซ่อมเสร็จพอดี ลองสวมดูว่าใช้ได้ไหม

ฉาก20 ภายนอก/หน้าบ้านหลังใหม่/เช้า
-ลุงสมสวมรองเท้าคู่เก่าเดินลงมาจากบ้าน ศรีเดินตามมาติดๆ
-สมบัติเช็ครถเสร็จ กำลังปิดฝากระโปรง
-สมบัติเปิดประตูรถให้พ่อนั่งหน้า ศรีนั่งหลัง ตนเองกำลังจะเดินไปด้านคนขับ
-เหลือบไปเห็นกรงนกเขา เปิดกรงปล่อยนกไป

ฉาก21 ภายนอก/ตลาด/เช้า
-รถของสมบัติขับมาจอด
-ลุงสมเปิดประตูลงรถมา
-สมบัติตะโกนจากในรถ "เดี๋ยวตอนเย็นผมมารับนะพ่อ"
-ลุงสมยิ้ม พยักเพยิดหน้า แล้วเดินตรงไปยังร้านซ่อมรองเท้า
-สมบัติใส่เกียร์ถอยหลัง แล้วเหยียบคันเร่ง ด้วยรองเท้าคู่เก่าที่พ่อซ่อมให้

-จบ-

ออฟไลน์ นานะจัง

  • *
  • 7234
  • -3
  • เพศ: หญิง
  • นิศาอรพินท์
    • อีเมล์
Re: วิธีการเขียนบทละครโทรทัศน์
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: กันยายน 21, 2009, 10:09:56 AM »
Paradigm
Paradigm เป็นขั้นตอนที่สำคัญขั้นตอนหนึ่ง ที่ช่วยสรุปจังหวะของการเขียนบทที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร ขั้นตอนที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่าเรื่องนั้นดำเนินไปเป็นฉากๆแล้ว แต่เรายังไม่ได้ถอยออกมา แล้วมองเรื่องทั้งเรื่อง เป็นจังหวะหรือstepของการดำเนินเรื่อง
วิธีการของขั้นตอนนี้ จะเน้นไปที่การวิเคราะห์และตีความ คุณสมบัติหรือหน้าที่ของแต่ละฉาก เพื่อตรวจสอบดูว่าอะไรขาด อะไรเกิน และไปสู่การ ออกแบบstepของการเล่าเรื่องนั่นแหละครับ ถ้าไม่พอใจ จะได้แก้ไขก่อนจะเข้าสู่Screenplay

การวิเคราะห์ ตีความ คุณสมบัติและหน้าที่ของฉาก
คุณสมบัติหรือหน้าที่ที่พูดถึงนี้ คือ หน้าที่ต่อการเล่าเรื่อง เล่าอารมณ์ เราต้องสรุปได้ว่า ฉากนั้นๆ มีประโยชน์อย่างไร เช่น
ฉาก1 ภายนอก/ร้านซ่อมรองเท้า/กลางวัน
ลุงสมนั่งทำงานด้วยใบหน้าที่ปราศจากความทุกข์ - บอกทัศนคติต่องานหรือชีวิต ว่ามีความสุขดี
ทักทายผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมา - บอกข้อมูลว่าลุงสมมีมนุษยสัมพันธ์ดีกับคนอื่น มีเกียรติ ไม่มีข้อขัดแย้งกับสังคม
ตกเย็นลุงสมเก็บของเล็กๆน้อยๆ ของหนักๆทิ้งไว้ที่ร้าน - หย่อนเหตุผลไว้ว่า ทำไมลุงสมจะต้องกลับมาที่นี่อีก เพราะที่นี่ยังมีสิ่งที่สำคัญเก็บไว้
.........
.........
ฉาก21 ภายนอก/ตลาด/เช้า
รถของสมบัติขับมาจอด - ลุงสมได้กลับมาที่ตลาดอีกครั้ง
ลุงสมเปิดประตูลงรถมา - ลุงสมดีใจ ไม่รอช้าที่จะลงรถ
สมบัติตะโกนจากในรถ "เดี๋ยวตอนเย็นผมมารับนะพ่อ" - สมบัติไม่ได้โกรธพ่อ ไม่ได้ทอดทิ้งพ่อ
ลุงสมยิ้ม พยักเพยิดหน้า แล้วเดินตรงไปยังร้านซ่อมรองเท้า - ลุงสมก็ไม่ได้โกรธลูก แต่ก็ดีใจที่ได้กลับมาซ่อมรองเท้าอีกครั้ง
สมบัติใส่เกียร์ถอยหลัง แล้วเหยียบคันเร่ง ด้วยรองเท้าคู่เก่าที่พ่อซ่อมให้ - สมบัติยอมถอยออกมาจากความคิดเดิม และยอมรับในวิถีของพ่อ

เมื่อเราลองวิเคราะห์ ตีความ แต่ละฉากแล้ว จะทำให้เราเห็นชัดเจนขึ้นว่า อะไรเยิ่นเย้อ อะไรไม่พอ

3 องก์
หลังจากนั้น ลองสร้างStepของการดำเนินเรื่อง เป็นองก์ๆ นิยมใช้ 3 องก์ ซึ่งก็มีหลายสูตร วันนี้จะลองยกเอามาสูตรหนึ่ง มีstepดังนี้
องก์1
1.เปิดตัวละครหลัก บอกทัศนคติต่อตัวเอง ทัศนคติต่อสังคม ต่อสถานที่ และเหตุการณ์รอบๆตัว
2.เปิดตัวละครฝ่ายตรงข้าม และทัศนคติต่อตัวละครหลัก
3.เหตุการณ์พลิกผันที่ทำให้ตัวละครหลักต้องประสบปัญหา หรือเกิดความขัดแย้ง

พาไปสู่

องก์2
1.ตัวละคร2ฝ่าย เผชิญภาวะความขัดแย้ง
2.การแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ของตัวละครทั้ง 2 ฝ่าย
3.ความขัดแย้งของตัวละครหลัก กลับเพิ่มมากขึ้น
4.ตัวละครหลัก ตัดสินใจ แก้ไขปัญหาด้วยวิธีเด็ดขาด

พาไปสู่

องก์3
1.การแก้ไขปัญหา วิธีขั้นเด็ดขาดของตัวละคร
2.ผลลัพธ์ของการกระทำดังกล่าว พาตัวละครทั้ง 2 ฝ่าย ไปถึงจุดสุดยอดของสถานการณ์
3.ตัวละคร(ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่าย)เกิดการเรียนรู้ (หนังพิสูจน์theme)
4.สถานการณ์คลี่คลาย

.....................................ตัวอย่างกราฟของการเล่าเรื่อง รูปแบบหนึ่ง
 


ทีนี้เราก็ลองเอาScenerioของเรา บรรจุลงในสูตรดังกล่าว เพื่อเช็คดูว่าStepการเล่าเรื่องของเรา พอที่จะสอดคล้องกับสูตรได้ไหม โดยอาจจะลองสร้างกราฟดูก็ได้

องก์1
ฉาก1 เปิดตัวละครลุงสม ทัศนคติต่ออาชีพตัวเอง ต่อสังคมคนรอบข้าง
ฉาก2 สภาพความเป็นอยู่ปัจจุบัน
ฉาก3 เปิดตัวละครลูกชายและสะใภ้ และทัศนคติต่อลุงสม
เหตุการณ์พลิกผัน ลุงสมต้องไปอยู่บ้านหลังใหม่

พาไปสู่

องก์2
ฉาก4 ลุงสมเผชิญภาวะความขัดแย้งกับสถานที่
ฉาก5 ขัดแย้งกับสถานที่
ฉาก6 ขัดแย้งกับตัวละครอื่น ไม่มีใครอยู่บ้าน
ฉาก7 ขัดแย้งในตัวเอง
ฉาก8 ขัดแย้งในตัวเอง
ฉาก9 (การแก้ไขปัญหาครั้งที่1) ลูกชายและสะใภ้ พยายามปรนเปรอด้วยวัตถุ
ฉาก10 (การแก้ไขปัญหาครั้งที่1) ลุงสมพยายามใช้วัตถุ ทำให้ตนสบายใจขึ้น
ฉาก11 (การแก้ไขปัญหาครั้งที่2) ลูกชายพยายามหาเครื่องผ่อนคลายจิตใจให้พ่อ ที่มากกว่าวัตถุ โดยการหานกมาให้เลี้ยง
ฉาก12 (การแก้ไขปัญหาครั้งที่2) ลุงสมพยายามผ่อนคลายโดยเล่นกับนก แต่กลับห่อเหี่ยวมากขึ้นไปอีกเมื่อเห็นนกอยู่ในกรง
ฉาก13 ลุงสมไปเจอรองเท้าเก่าของลูก (ความขัดแย้งของตัวละครหลักกลับเพิ่มมากขึ้น)
ฉาก14 ลุงสมตัดสินใจเดินออกจากบ้าน (แก้ไขปัญหาด้วยวิธีเด็ดขาด)

พาไปสู่

องก์3
ฉาก15 ลุงสมเดินไปตลาด (การแก้ไขปัญหา วิธีขั้นเด็ดขาดของตัวละคร)
ฉาก16 ลุงสมลงมือซ่อมรองเท้า (การแก้ไขปัญหา วิธีขั้นเด็ดขาดของตัวละคร)
ฉาก17 ลุงสมขัดรองเท้า (การแก้ไขปัญหา วิธีขั้นเด็ดขาดของตัวละคร)
ฉาก18 สมบัติขับรถไปหาลุงสม(ผลลัพธ์ของการกระทำดังกล่าว พาตัวละครทั้ง 2 ฝ่าย ไปถึงจุดสุดยอดของสถานการณ์)
ฉาก19 ลุงสมกับลูกชาย เผชิญหน้ากัน(ผลลัพธ์ของการกระทำดังกล่าว พาตัวละครทั้ง 2 ฝ่าย ไปถึงจุดสุดยอดของสถานการณ์)
ฉาก20 สมบัติเกิดการเรียนรู้ (หนังพิสูจน์theme)
ฉาก21 สมบัติยอมถอยออกมาจากความคิดเดิม และยอมรับในวิถีของพ่อ (สถานการณ์คลี่คลาย)

-จบ-

Sequence
ทีนี้ พอเราได้ลองบรรจุScenerioของเรา ลงในสูตรดังกล่าวแล้ว เราจะเห็นได้ว่า มันมีความชัดเจนของหน้าที่ของแต่ละฉากมากขึ้น เห็นเป็นกลุ่มก้อนของฉาก ว่ามีการ เล่าเรื่องต่อเนื่องกัน เสริมกัน เป็นหมวดหมู่ของอารมณ์ไป เป็นสัดส่วนมากขึ้น ตรงนี้แหละที่เราจะเอามารวบแต่ละฉากที่มีหน้าที่คล้ายกัน มาเข้ากลุ่มเป็นSequence การแบ่งSequenceนิยมตั้งชื่อSequenceด้วย เพื่อความแม่นยำมากขึ้นว่าในSequenceนั้นๆ กำลังจะบอกประเด็นอะไรเป็นสำคัญ



 
ตัวอย่างการเขียนบท ที่จะพัฒนาในขั้นตอนต่อๆไป
Paradigm

องก์1
Sequence A ชีวิตสุขๆของลุงสม
ฉาก1 เปิดตัวละครลุงสม ทัศนคติต่ออาชีพตัวเอง ต่อสังคมคนรอบข้าง
ฉาก2 สภาพความเป็นอยู่ปัจจุบัน
Sequence B จุดพลิกผัน
ฉาก3 เปิดตัวละครลูกชายและสะใภ้ และทัศนคติต่อลุงสม
เหตุการณ์พลิกผัน ลุงสมต้องไปอยู่บ้านหลังใหม่

พาไปสู่

องก์2
Sequence C ความขัดแย้งของลุงสม
ฉาก4 ลุงสมเผชิญภาวะความขัดแย้งกับสถานที่
ฉาก5 ขัดแย้งกับสถานที่
ฉาก6 ขัดแย้งกับตัวละครอื่น ไม่มีใครอยู่บ้าน
ฉาก7 ขัดแย้งในตัวเอง
ฉาก8 ขัดแย้งในตัวเอง
Sequence D ประคับประคอง
ฉาก9 (การแก้ไขปัญหาครั้งที่1) ลูกชายและสะใภ้ พยายามปรนเปรอด้วยวัตถุ
ฉาก10 (การแก้ไขปัญหาครั้งที่1) ลุงสมพยายามใช้วัตถุ ทำให้ตนสบายใจขึ้น
ฉาก11 (การแก้ไขปัญหาครั้งที่2) ลูกชายพยายามหาเครื่องผ่อนคลายจิตใจให้พ่อ ที่มากกว่าวัตถุ โดยการหานกมาให้เลี้ยง
ฉาก12 (การแก้ไขปัญหาครั้งที่2) ลุงสมพยายามผ่อนคลายโดยเล่นกับนก แต่กลับห่อเหี่ยวมากขึ้นไปอีกเมื่อเห็นนกอยู่ในกรง
ฉาก13 ลุงสมไปเจอรองเท้าเก่าของลูก (ความขัดแย้งของตัวละครหลักกลับเพิ่มมากขึ้น)
ฉาก14 ลุงสมตัดสินใจเดินออกจากบ้าน (แก้ไขปัญหาด้วยวิธีเด็ดขาด)

พาไปสู่

องก์3
Sequence E ขาดผึง
ฉาก15 ลุงสมเดินไปตลาด (การแก้ไขปัญหา วิธีขั้นเด็ดขาดของตัวละคร)
ฉาก16 ลุงสมลงมือซ่อมรองเท้า (การแก้ไขปัญหา วิธีขั้นเด็ดขาดของตัวละคร)
ฉาก17 ลุงสมขัดรองเท้า (การแก้ไขปัญหา วิธีขั้นเด็ดขาดของตัวละคร)
ฉาก18 สมบัติขับรถไปหาลุงสม(ผลลัพธ์ของการกระทำดังกล่าว พาตัวละครทั้ง 2 ฝ่าย ไปถึงจุดสุดยอดของสถานการณ์)
ฉาก19 ลุงสมกับลูกชาย เผชิญหน้ากัน(ผลลัพธ์ของการกระทำดังกล่าว พาตัวละครทั้ง 2 ฝ่าย ไปถึงจุดสุดยอดของสถานการณ์)
Sequence F คนละครึ่งทาง
ฉาก20 สมบัติเกิดการเรียนรู้ (หนังพิสูจน์theme)
ฉาก21 สมบัติยอมถอยออกมาจากความคิดเดิม และยอมรับในวิถีของพ่อ (สถานการณ์คลี่คลาย)

ออฟไลน์ นานะจัง

  • *
  • 7234
  • -3
  • เพศ: หญิง
  • นิศาอรพินท์
    • อีเมล์
Re: วิธีการเขียนบทละครโทรทัศน์
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: กันยายน 21, 2009, 10:11:00 AM »
Return to Research
พอบทพัฒนามาถึงจุดนี้ ผมอยากให้ลองกลับไปresearchอีกครั้งครับ คราวนี้เราจะไม่ได้researchแบบเหวี่ยงแห เพราะเรามีเรื่องอยู่แล้ว แต่จะเป็นการเก็บรายละเอียดที่ตรงกับบท และหาข้อบกพร่องของบทไปด้วยในตัว เราอาจจะถือบทไปด้วยแล้วเช็คทีละจุดๆว่า บทของเราfakeรึเปล่า

ในการเขียนScreenplay จะต้องใส่รายละเอียดอย่างครบถ้วน ทั้งการแสดง กิริยาอาการต่างๆ ทัศนคติ บทสนทนา ฉาก ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ คือสิ่งที่สำคัญที่การresearchครั้งนี้ จะต้องเอากลับมาให้ได้ เพราะscreenplayจะเป็นบทขั้นสุดท้ายแล้ว (ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่อง ไม่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทำ) ดังนั้นทุกๆอย่างที่เราจะเขียนในขั้นต่อไป จะต้องมีความจริงอยู่เยอะที่สุด
จึงอยากให้ลองกลับไปเช็คอีกทีว่า บทของเราสมจริงแค่ไหน โดยตั้งคำถามหาคำตอบให้กับบทอยู่เสมอ

สมัยที่ผมเรียนปี2 หลังจากได้treatmentแล้ว เป็นเรื่องเกี่ยวกับลูกชายอายุ35 กับแม่อายุ60 ผมต้องเอาเครื่องอัดเสียงไปฝากไว้กับครอบครัวหนึ่ง ที่คิดว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับบท โดยแจ้งกับพี่ที่เป็นลูกชายว่า ผมต้องการรูปแบบการพูดคุยของแม่-ลูก ที่เป็นธรรมชาติ โดยผมได้ให้ประโยคของตัวละครลูกชายไปด้วย เป็นไกด์ในการสนทนา เพื่อที่ผมจะได้รู้ลักษณะการโต้ตอบของแม่ ในคำถามตามบท
และเมื่อมีจังหวะดีๆที่พี่สามารถพูดคุยกับแม่ได้ ก็ฝากแอบกดอัดบันทึกเสียงการสนทนาของพี่ชายกับคุณแม่ให้หน่อย โดยอย่าให้คุณแม่รู้ตัว
ซึ่งผลที่ได้ก็ออกมาดีครับ มีบางอย่างที่เป็นธรรมชาติ เกินกว่าที่เราจะจินตนาการได้ และผมก็ใช้มันในการเขียนscreenplay

อีกครั้งหนึ่งผมเขียนบทเกี่ยวกับเด็กหญิงอายุ14 ที่ตามหาพ่อ ผมต้องการรู้ทัศนคติของเด็ก มุมมอง วิธีแก้ปัญหา การตัดสินใจ ฯ ผมไปคุยกับครูแนะแนวโรงเรียนมัธยม ซึ่งครูแนะแนวก็บอกให้ผมคิดคำถามมา คิดกิจกรรม คิดชั้นเชิงในการถามคำถามเด็ก เพื่อที่จะได้คำตอบที่น่าสนใจ ครูแนะแนวบอกว่าบางทีถ้าถามเด็กกันตรงๆ มันจะไม่ได้คำตอบ เราต้องค่อยๆพาเด็กไปสู่จินตนาการในบทให้ได้ แล้วครูแนะแนวก็ยกชั่วโมงเรียนแนะแนวให้ผม1คาบ ให้ผมทำกิจกรรมกับเด็ก

ส่วนพฤติกรรมของตัวละครก็ต้องอาศัยการสังเกตการณ์ครับ พยายามพาตัวเราไปอยู่ในสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับบท ไปอยู่กับคนที่ใกล้กับบทที่สุด เพื่อนผมบางคนต้องไปสลัม บางคนต้องไปคลุกคลีกับเด็กเร่ร่อน บางคนต้องทำเรื่องขอเข้าไปในเรือนจำ ไปคุยกับพระ ไปค่ายมวย ไปสนามม้า ไปหน่วยรบพิเศษ ฯ
อย่างน้อย ถ้าเราหาบุคคลนั้นไม่ได้จริงๆ ก็ลองใช้ตัวเราเองนี่แหละครับ ไปในสถานการณ์ที่ตัวละครต้องไป เราจะมีโอกาสสัมผัสกับสถานการณ์หรือปัญหาของตัวละครมากขึ้น แล้วเก็บเป็นคำถามมา ไว้หาบุคคลที่ใกล้เคียงสัมภาษณ์


 
ฉาก 1
- ปกติแล้ว รองเท้าประเภทไหน ที่คนนิยมเอามาซ่อม
- ท่วงท่าการทำงาน ขั้นตอนการซ่อมรองเท้าที่ถูกต้องของมืออาชีพ เป็นอย่างไร
- การแต่งกายของช่าง
- ชื่อเรียกอุปกรณ์ หรือเครื่องมือของช่างซ่อมรองเท้า
- ลักษณะร้านเป็นอย่างไร
- กลุ่มลูกค้าคือใคร จำนวนลูกค้า-รายได้ของร้านเป็นอย่างไร

ฉาก 2
- ลักษณะเด่นของบ้านคนทำอาชีพซ่อมรองเท้า เช่น รั้งประตูด้วยเชือกรองเท้า
- พฤติกรรมที่อาชีพถ่ายทอดไปสู่ชีวิตประจำวัน เช่น การเก็บรองเท้า การมวนยาเส้น

ฉาก 3
- อาชีพของลูก ลูกสะใภ้ (ที่เชื่อได้ว่า พ่อยังทำงานซ่อมรองเท้า คงไม่ใช่เศรษฐีร้อยล้าน)
- ประเภทรถ ยี่ห้อ รุ่น ที่สัมพันธ์กับรายได้
- วิธีการพูดของลูกกับพ่อ ลูกสะใภ้กับพ่อผัว

ฉาก 4 / 5 / 6 / 7 / 8
- สภาพบ้านของลูก ที่สัมพันธ์กับรายได้และอาชีพ
- พฤติกรรมของคนแก่ ที่มีความขัดแย้งในใจ กับสถานที่ กับตัวเอง

ฉาก 9
- วิธีการพูดของลูกกับพ่อ ลูกสะใภ้กับพ่อผัว

ฉาก 10
- พฤติกรรมของคนแก่ กับเทคโนโลยี

ฉาก 11
- วิธีการพูดของลูกกับพ่อ

ฉาก 12
- พฤติกรรมของคนแก่เล่นกับนกเขา

ฉาก 13
- รองเท้าของลูกเป็นแบบไหน ที่สัมพันธ์กับรายได้และอาชีพ
- วิธีการซ่อมรองเท้าเบื้องต้น ตามอาการที่ปรากฏ ในบทลุงสมจะต้องให้ออกไปที่ร้าน ก็ต้องรู้ว่ารองเท้าชำรุดแบบไหนถึงต้องไปที่ร้าน

ฉาก 14
- พฤติกรรมของคนแก่ ตอนตัดสินใจเดินออกจากบ้านไป การเก็บของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น ยาเส้น ยานัตถุ์ การสวมหมวก การล็อคประตู

ฉาก 15
- รองเท้าอะไร ที่ลูกสะใภ้ซื้อให้ลุงสม
- กัดเท้าแบบไหน

ฉาก 16
- ท่วงท่า วิธีการ เครื่องมือที่ใช้ในการซ่อมรองเท้า ตามอาการที่ปรากฏ

ฉาก 17
- ท่วงท่า วิธีการ เครื่องมือที่ใช้ในการขัดรองเท้า

ฉาก 18 / 19
- การแสดงออก วิธีการพูด ของลูกกับพ่อ ด้วยอารมณ์ของตัวละคร

ฉาก 20
- พฤติกรรมของตัวละครทุกตัว ในทัศนคติใหม่

ฉาก 21
- พฤติกรรมของตัวละครทุกตัว ในทัศนคติใหม่
- น้ำเสียงของสมบัติ กับประโยค "เดี๋ยวตอนเย็นผมมารับนะพ่อ"
- สีหน้า ท่าทาง ของลุงสม

ออฟไลน์ นานะจัง

  • *
  • 7234
  • -3
  • เพศ: หญิง
  • นิศาอรพินท์
    • อีเมล์
Re: วิธีการเขียนบทละครโทรทัศน์
« ตอบกลับ #8 เมื่อ: กันยายน 21, 2009, 10:12:16 AM »
Screenplay

เข้าสู่ขั้นตอนที่สำคัญและละเอียดที่สุดของการเล่าเรื่อง บทScreenplayนี้ จะเป็นบทที่มอบให้นักแสดงท่อง มอบให้ทีมงานฝ่ายต่างๆเตรียมงาน ดังนั้นสำนวนการเขียนไม่ควรจะคลุมเครืออีกต่อไป จะใช้ภาษาแบบเล่าเรื่องด้วยภาพ ขอเน้นนะครับว่าการเขียน Screenplayนี้ จะใช้สำนวนการเขียนอธิบายให้เห็นเป็นภาพมากที่สุด คำอะไรก็ตามที่เคยเขียนเป็นตัวอักษร จะถูกทำให้กลายเป็น คำอธิบายภาพ (ยกเว้นจะเป็นการสนทนา) ถ้ายังงงๆ จะขออธิบายอย่างนี้ละกัน

ตอนเช้า จะไม่เขียนว่า ตอนเช้า แล้ว เพราะ ตอนเช้า ไม่ใช่ภาพ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับคนเขียนบทว่า จะใช้อะไรมาสื่อคำว่า ตอนเช้า เช่น ไก่ขัน พระอาทิตย์ขึ้นเหนือยอดไม้ พระเดินบิณฑบาตร เด็กไปโรงเรียน เป็นต้น
ทีมงานฝ่ายต่างๆจะได้รู้ว่า จะต้องเตรียมอะไรบ้าง ต้องเตรียมไก่ไหม ต้องหาเด็กนักเรียนมาเข้าฉากไหม ต้องเตรียมเลนส์อะไร เอาฟิลเตอร์อะไรมาถ่ายพระอาทิตย์ นัดกองกี่โมง ถ่ายทำที่ไหน เห็นไหมว่า คำว่า ตอนเช้า ไม่พอแล้ว

เธอยืนอยู่หน้าห้องฉุกเฉิน อย่างรู้สึกกังวล ก็จะไม่เขียน รู้สึกกังวล ก็เขียนได้แต่ยังไม่พอ เพราะ รู้สึกกังวล ไม่ใช่ภาพ จะต้องอธิบายเป็นภาพให้ได้ว่า รู้สึกกังวล เป็นภาพอะไร เช่น เธอยืนอยู่หน้าห้องฉุกเฉิน พยายามมองเข้าไปข้างใน ขมวดคิ้ว กัดริมฝีปาก ดูนาฬิกาข้อมือ ถอนหายใจออกมาเฮือกใหญ่ แล้วลงไปนั่งก้มหน้า เช็ดเหงื่อที่ฝ่ามือกับขากางเกง
เวลาทีมงานอ่านบทก็จะรู้ได้ว่า ผู้ช่วยฯต้องเตรียมเหงื่อนะ costumeต้องมีนาฬิกาข้อมือนะ ฝ่ายกล้องต้องเตรียมเลนส์80นะเพราะมีcu.หน้า ฝ่ายartต้องมีเก้าอี้หน้าห้องฉุกเฉินนะ

เธอลังเลที่จะโทรหาเขา ลังเล ไม่ใช่ภาพ อาจจะเขียนว่า เธอนั่งมองโทรศัพท์บ้าน ยกหูขึ้น กดเบอร์ไป5ตัว ถอนหายใจ วางหู แต่มือยังจับไว้ ยกหูขึ้นอีกที แล้ววางไว้ข้างนอก(ยกหูออก) ผ่านไป5วินาที เธอเอาหูไปวางไว้ที่เดิม

การเล่าเรื่องด้วยภาพนี้ จะทำให้ทุกๆฝ่ายเตรียมงานได้แม่นยำขึ้น ทั้งฝ่ายกำกับการแสดง ฝ่ายกำกับภาพ ฝ่ายกำกับศิลป์ เสื้อผ้า แต่งหน้า สถานที่ถ่ายทำ เสียง ฯ และรายละเอียดเหล่านี้แหละ จะนำไปสู่การคำนวณงบประมาณในการสร้าง

รูปแบบการเขียนScreenplay
Screenplayนี้จะประกอบไปด้วยหัวฉากแบบ scenario คือมีเลขฉาก ภายนอก/ภายใน ชื่อฉาก และเวลากลางวัน/กลางคืน
ในด้านภาพ จะเป็นคำอธิบายภาพ อธิบายฉาก เสื้อผ้า การแสดง สีหน้าท่าทาง
ในด้านเสียง ไม่ว่าจะเป็นเสียงสนทนา เสียงบรรยาย หรือเสียงประกอบต่างๆ นิยมจัดหน้ากระดาษ ให้ชื่อตัวละคร หรือที่มาของเสียง อยู่กึ่งกลางหน้ากระดาษ และเสียงบทสนทนาหรือเสียงต่างๆ อยู่ในขอบกั้นหน้า กั้นหลัง ใต้ชื่อตัวละครนั้นอย่างเป็นระเบียบ




 
ตัวอย่างการเขียนบท ที่จะพัฒนาในขั้นตอนต่อๆไป

Screenplay
Sequence A ชีวิตสุขๆของลุงสม
ฉาก1 ภายนอก/ร้านซ่อมรองเท้า/กลางวัน
ลุงสม นั่งซ่อมรองเท้าหนังคัทชูแบบผู้หญิงอยู่ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ลูกค้าผู้หญิงวัย30นั่งรออยู่ข้างๆ ลุงสมใช้เข็ม
ขมวดสายเอ็น ดึงให้แน่นก่อนที่จะตัดด้วยกรรไกรด้ามเก่าๆ จากนั้นสวมรองเท้าเข้ากับทั่ง ใช้ฆ้อนเคาะพื้นรองเท้า
ให้ได้รูปทรง แล้วดึงออก ถือรองเท้าหมุนดูไปมา

........................................................ลุงสม
...................................โอเค..ซิกกาแรต!!

........................................................ลูกค้า
...................................เท่าไหร่คะลุง

ลุงสมวางรองเท้าลงกับพื้น ให้ลูกค้าลองสวม

........................................................ลุงสม
...................................ลองใส่ดูก่อน

ลูกค้าลองสวมแล้วเดินไปมา

........................................................ลูกค้า
...................................โอเคลุง...เท่าไหร่คะ

ลูกค้าหยิบกระเป๋าสตางค์ขึ้นมาเตรียมจ่าย

........................................................ลุงสม
....................................40 บาทละกัน

ลูกค้าหยิบแบงค์500ออกมา ยื่นให้ลุง

........................................................ลุงสม
....................................อู้!! ไม่มีแบงค์ปลีกเหรอหนู

........................................................ลูกค้า
....................................ไม่มีอ่ะค่ะ.. เอางี้ เดี๋ยวหนูไปซื้อของที่เซเว่น
....................................ตรงหัวมุมนู่นก่อนได้ไหมคะ แล้วเดี๋ยวกลับมาจ่าย

........................................................ลุงสม
....................................ฮื่อ..ไม่เป็นไร(พลางหยิบถุงใบจาก ยาเส้นขึ้นมา)
....................................วันหลังก็ได้ ลุงอยู่ตรงนี้แหละ ทุกวัน(มวนยา)

........................................................ลูกค้า
....................................ขอบคุณค่ะลุง พอดีหนูรีบเหมือนกัน

........................................................ลุงสม
....................................อือๆ..

ลูกค้าเดินออกไป ลุงสมมวนยาเสร็จก็จุดสูบ มีเสียงแม่ค้าขายผักดังแว่วมา

....................................................แม่ค้าขายผัก
....................................โอ้ย..เมื่อไหร่จะถูกหวยกะเค้ามั่งว้า..

........................................................ลุงสม
....................................รวยแล้วจะเลิกขายผักรึไง(พูดปนขำ)

พ่อค้าหาบเร่ ขายของเบ็ดเตล็ด(ไส้ไก่รถจักรยาน ที่ปะหม้อรั่วชามรั่ว ฟองน้ำล้างจาน)เดินมาได้ยินพอดี พูดแซวขึ้น

..................................................พ่อค้าหาบเร่
....................................บอกลูกสาวสิว่าให้หาผัวรวยๆ จะได้สบาย
....................................อีกหน่อยเจ๊ก็อยู่บ้านให้ลูกมันเลี้ยง

....................................................แม่ค้าขายผัก
....................................บอกลูกมึงสิไอ้หวัง ถึงรวยแล้วกูยังขายผักเว้ย
....................................ดูลุงสมแกสิ ลูกแกเป็นถึงนายแบงค์ แกเคยหยุด
....................................ทำงานกะใครที่ไหน (หันไปพูดกับลุงสม)
....................................เดี๋ยวจะไม่มีที่เก็บเงินนะลุงสม

........................................................ลุงสม
....................................ฮื่อ...เงินมัน ไม่ใช่เงินฉัน เงินฉันแค่ซื้อโอเลี้ยง
....................................ได้แค่นั้นแหละ พูดถึงก็เปรี้ยวปาก
....................................(หันไปอีกทาง)ไอ้เปี๊ยกโอเลี้ยงแก้วดิวะ

........................................................เปี๊ยก(คนขายโอเลี้ยง)
....................................โอเคซิกกาแรต!!

ลุงสมหัวเราะ เปี๊ยกชงโอเลี้ยง

Montage ภาพชุด ผ่านเวลา
..........ลุงสมดูดโอเลี้ยง / แม่ค้าขายผักเก็บร้าน / ครูผู้ชายวัย50ขี่มอเตอร์ไซค์มาจอดหน้าร้านลุงสม ยื่นถุงใส่
รองเท้าหนัง ส่งให้ลุงสมซ่อม ครูผู้ชายส่งถุงให้อีกถุง เป็นมะม่วง4-5ลูก ลุงสมรับถุงมะม่วงนั้นมาอย่างยิ้มแย้ม
ครูขี่รถออกไป / ลุงสมซ่อมรองเท้าของลูกค้าที่เป็นครู / แม่ค้าขายผัดไทเข็นรถมาจอดแทนที่ร้านขายผัก ลุงสม
ทักทายกับแม่ค้าผัดไท / เด็กนักเรียนชายวัย8ขวบเดินมากับแม่ แม่ถือกระเป๋านักเรียน ส่วนลูกอุ้มฟุตบอลอยู่
เดินมาหยุดที่ร้านลุงสม เด็กน้อยถอดรองเท้าข้างขวาออกส่งให้ลุงสม ลุงสมรับมาดูหัวเราะร่า ลุงสมซ่อมรองเท้าให้
เด็กน้อยสวมรองเท้าข้างเดียว นั่งกินผัดไทรอลุงสมซ่อมรองเท้า ส่วนแม่กินหอยทอด / เด็กน้อยเดินไปกับแม่
ลุงสมเก็บของใส่กระเป่า / ลุงสมหิ้วถุงมะม่วง กระเป๋าสัมภาระ เดินอยู่บนสะพานข้ามคลอง

ออฟไลน์ นานะจัง

  • *
  • 7234
  • -3
  • เพศ: หญิง
  • นิศาอรพินท์
    • อีเมล์
Re: วิธีการเขียนบทละครโทรทัศน์
« ตอบกลับ #9 เมื่อ: กันยายน 21, 2009, 10:14:06 AM »
Shooting Script

การเขียนShooting Scriptเป็นขั้นที่พัฒนาต่อมาจากScreenplay แต่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นบทสำหรับถ่ายทำ เรียกกันว่า บทถ่ายทำ รูปแบบการเขียนShooting Script จะคล้ายกับscreenplayคือมีการเขียน หัวฉาก คำอธิบายรายละเอียดของฉาก ใส่เสียงสนทนา เสียงบรรยาย
แต่ที่เพิ่มมาคือจะมีการกำหนด รายละเอียดของขนาดภาพ มุมกล้อง การเคลื่อนกล้อง การกำหนดรูปแบบของการเชื่อมShotต่างๆเข้าด้วยกัน

ถ้าใครเคยเข้าไปอ่านในเมนู บทความ>ความรู้พื้นฐาน>การกำกับภาพ หรือ
บทความ>Pre-production>การเตรียมงานสร้างภาพยนตร์ (Pre-production) ตอนที่ 1ก็จะทำให้เข้าใจการเขียนShooting Scriptง่ายยิ่งขึ้น แต่ถ้าไม่เคย ก็แนะนำให้ลองไปอ่านดูก่อนนะครับ

ลักษณะของShooting Scriptที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่ง คือจะมีการแบ่งShot ซึ่งก็จะมีการrunตัวเลขของshotด้วย
ในหนังยาวที่มีจำนวนฉากมาก ก็จะมีจำนวนshotเยอะ เป็นร้อยเป็นพันshot การrunตัวเลขของshotในหนังยาว จึงมักจะเริ่มนับshot1ใหม่ เมื่อขึ้นฉากใหม่ คือ
ฉาก 1 ก็จะมี shot1 shot2 shot3 shot4 shot5.....
ฉาก 2 ก็จะมี shot1 shot2 shot3 shot4 shot5.....

แต่ในหนังสั้น จะมีจำนวนshotไม่มาก (หนัง10นาที ไม่น่าเกิน120shot) ดังนั้น ในหนังสั้นอาจจะrunเลขshot ต่อเนื่องกันไปทั้งเรื่อง คือ
ฉาก 1 ก็จะมี shot1 shot2 shot3 shot4 shot5.....shot12 shot13 shot14
ฉาก 2 ก็จะต่อเป็น shot15 shot16 shot17 shot18........

ถ้ามีการเพิ่มshot (มักเกิดขึ้นระหว่างถ่ายทำ)นิยมเพิ่มจุดทศนิยม หรือตัวอักษรเข้าไป เช่น แทรกระหว่างshot16 กับshot17 นิยมเขียนเป็น 16.1 หรือ16A

อีกอย่าง Shooting Script จะมีการกำหนดลักษณะของการเชื่อมShot ต่างๆเข้าด้วยกัน ที่พบได้บ่อยๆคือ
1. การตัดชนภาพ The Cut คือ การตัดภาพชนกันจากช็อตหนึ่งต่อตรงเข้ากับอีกช็อตหนึ่ง ใช้คำว่า Cut หรือ ตัดไป
2. การเลือนภาพ The Fade มี 2 ลักษณะ
เลือนภาพเข้า fade in คือการเริ่มภาพจากดำ ขาว หรือสีใดๆ แล้วค่อย ๆ ปรากฏภาพเลือนเข้ามา ใช้คำว่าfade in
เลือนภาพออก fade out คือการที่ภาพค่อยๆเลือนหายไป กลายเป็นมืดดำสนิท ขาว หรือสีใดๆ fade out
3. การผสมภาพ The Dissolve เป็นการค่อย ๆ เปลี่ยนภาพจากช็อตหนึ่งไปยังอีกช็อตหนึ่ง โดยภาพAจะจางหายไป ในขณะที่ภาพBจะซ้อนขึ้นมา ใช้คำว่า Dissolve หรือ จางซ้อน

อย่างไรก็ตาม การออกแบบลักษณะของการเชื่อมShot นี้ ปัจจุบันไม่ใช่ตัวกำหนดการถ่ายทำ เป็นเพียงการออกแบบการตัดต่อเบื้องต้นเท่านั้นเอง




 
ตัวอย่างการเขียนบท ที่จะพัฒนาในขั้นตอนต่อๆไป

Shooting Script
Sequence A ชีวิตสุขๆของลุงสม
ฉาก1 ภายนอก/ร้านซ่อมรองเท้า/กลางวัน
1.LS. มุมกล้องระดับสายตาคนยืน
เห็นบรรกาศตลาดสดในซอยเล็กๆ backgroundเป็นคลอง เห็นร้านซ่อมรองเท้าของลุงสมอยู่กลางเฟรม ลุงสมนั่ง
ซ่อมรองเท้าหนังคัทชูแบบผู้หญิงอยู่ มีลูกค้าผู้หญิงวัย30นั่งรออยู่ข้างๆ มีคนเดินตลาดผ่านหน้ากล้องไปมา
(ลุงสมอยู่ซ้ายเฟรม ลูกค้าผู้หญิงอยู่ขวาเฟรม)
...Cut

2.MLS. มุมกล้องระดับเดียวกับลุงสม
เห็น2คนในเฟรม-two shot(ลุงสมกับลูกค้าผู้หญิง) ลุงสมใช้เข็มขมวดสายเอ็น ดึงให้แน่น
...Cut

3.MS
ลูกค้าผู้หญิงนั่งมองลุงสมทำงาน
...Cut

4.MCU.
ลุงสมทำงานด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม
...Cut

5.CU. Handheld
มือลุงสมหยิบกรรไกรด้ามเก่าๆมาตัดสายเอ็น จากนั้นสวมรองเท้าเข้ากับทั่ง
...Cut

6.MS
ลุงสมหยิบฆ้อนมาเคาะพื้นรองเท้า ให้ได้รูปทรง แล้วดึงออก
...Cut

7. CU. ข้ามไหล่ลุงสม(OS)
รองเท้าในมือลุงสม ลุงสมหมุนดูไปมา
...Cut

8.MLS.
two shot ลุงสมถือรองเท้าหมุนดูไปมา(ต่อเนื่องกับshot7)

........................................................ลุงสม
...................................โอเค..ซิกกาแรต!!

........................................................ลูกค้า
...................................เท่าไหร่คะลุง

ลุงสมวางรองเท้าลงกับพื้น ให้ลูกค้าลองสวม

........................................................ลุงสม
...................................ลองใส่ดูก่อน

ลูกค้าลองสวม
...Cut

9.LS. มุมกล้องระดับสายตาคนยืน
ลูกค้าลองสวมแล้วเดินไปมา(ต่อเนื่องกับshot8)

........................................................ลูกค้า
...................................โอเคลุง...เท่าไหร่คะ

ลูกค้าหยิบกระเป๋าสตางค์ขึ้นมาเตรียมจ่าย
...Cut

10.MS. มุมกล้องระดับเดียวกับลุงสม
ลุงสมแหงนหน้าขึ้นพูด

........................................................ลุงสม
....................................40 บาทละกัน
...Cut

11.CU.
กระเป๋าสตางค์ของลูกค้า ลูกค้าหยิบแบงค์500ออกมา
...Cut

12.LS. มุมกล้องระดับสายตาคนยืน
ลูกค้ายื่นแบงค์500ให้ลุง

........................................................ลุงสม
....................................อู้!! ไม่มีแบงค์ปลีกเหรอหนู

........................................................ลูกค้า
....................................ไม่มีอ่ะค่ะ.. เอางี้ เดี๋ยวหนูไปซื้อของที่เซเว่น
....................................ตรงหัวมุมนู่นก่อนได้ไหมคะ แล้วเดี๋ยวกลับมาจ่าย
...Cut

13.MS. มุมกล้องระดับเดียวกับลุงสม
ลุงสมแหงนหน้าขึ้นพูด

........................................................ลุงสม
....................................ฮื่อ..ไม่เป็นไร(พลางหยิบถุงใบจาก ยาเส้นขึ้นมา)
....................................วันหลังก็ได้ ลุงอยู่ตรงนี้แหละ ทุกวัน(มวนยา)
...Cut

14.LS. มุมกล้องระดับสายตาคนยืน
ลุงสมก็มวนยาไป ลูกค้าก็ทำท่าทางเก็บเงิน

........................................................ลูกค้า
....................................ขอบคุณค่ะลุง พอดีหนูรีบเหมือนกัน

........................................................ลุงสม
....................................อือๆ..
...Cut

15.MS. มุมกล้องระดับเดียวกับลุงสม
ถ่ายจากด้านขวาของลุงสม เห็นลูกค้าเดินออกไปทางซ้ายมือของลุงสม(ขวาเฟรม)เป็นbackground
ลุงสมมวนยาเสร็จ ก็จุดสูบ พ่นควันออกมา
...Cut

16.LS. มุมกล้องระดับสายตาคนยืน
เห็นร้านลุงสมอยู่ขวาเฟรม ร้านขายผักอยู่ซ้ายเฟรม พ่อค้าหาบเร่ขายของเบ็ดเตล็ดเดินมาเข้ามาทางขวาเฟรม
(คือเพิ่งสวนกับลูกค้าลุงสมมา)

....................................................แม่ค้าขายผัก
....................................โอ้ย..เมื่อไหร่จะถูกหวยกะเค้ามั่งว้า..

ลุงสมจัดของเล็กๆน้อยๆ คุยกับแม่ค้า โดยไม่ได้หันไปมอง

........................................................ลุงสม
....................................รวยแล้วจะเลิกขายผักรึไง

พ่อค้าหาบเร่ได้ยินพอดี หยุดเดินตรงซ้ายเฟรมหน้าร้านขายผัก พูดแซวแม่ค้าขึ้น

.......................................... .........พ่อค้าหาบเร่
....................................บอกลูกสาวสิว่าให้หาผัวรวยๆ จะได้สบาย
....................................อีกหน่อยเจ๊ก็อยู่บ้านให้ลูกมันเลี้ยง

....................................................แม่ค้าขายผัก
....................................บอกลูกมึงสิไอ้หวัง ถึงรวยแล้วกูยังขายผักเว้ย
....................................ดูลุงสมแกสิ ลูกแกเป็นถึงนายแบงค์ แกเคยหยุด
....................................ทำงานกะใครที่ไหน (หันไปพูดกับลุงสม)
...Cut

17.MS. มุมกล้องระดับเดียวกับลุงสม
ถ่ายจากด้านซ้ายของลุงสม เห็นแม่ค้าขายผักเป็นbackground(ซ้ายเฟรม) ลุงสมสูบใบจาก

....................................................แม่ค้าขายผัก
....................................เดี๋ยวจะไม่มีที่เก็บเงินนะลุงสม

........................................................ลุงสม
....................................ฮื่อ...เงินมัน ไม่ใช่เงินฉัน เงินฉันแค่ซื้อโอเลี้ยง
....................................ได้แค่นั้นแหละ พูดถึงก็เปรี้ยวปาก
...Cut

18.LS. มุมกล้องระดับสายตาคนยืน
คล้ายshot16 แต่กว้างกว่า เห็นโต๊ะขายโอเลี้ยงอยู่ขวาสุดเฟรมเพิ่มเข้ามา เปี๊ยก-เจ้าร้านโอเลี้ยงกำลังเช็ดโต๊ะอยู่
ลุงสมหันไปหา

........................................................ลุงสม
.................................... ไอ้เปี๊ยกโอเลี้ยงแก้วดิวะ
...Cut

19.MS มุมกล้องระดับสายตาคนยืน
เปี๊ยกกำลังเช็ดโต๊ะอยู่(ต่อเนื่องจากshot18) รีบหันมาทางลุงสม ชูมือขึ้นทำท่าโอเค(สามนิ้ว)

........................................................เปี๊ยก
....................................โอเคซิกกาแรต!!
...Cut

20.LS. มุมกล้องระดับสายตาคนยืน
เหมือนshot18 ลุงสมหัวเราะ เปี๊ยกชงโอเลี้ยง เพลงไตเติ้ลขึ้น ตัวอักษรภาษาอังกฤษเลือนเข้ามาซ้อนบนภาพ ทีละคำ

.............................................Shoe RepairMan

ตัวอักษรภาษาไทย ค่อยๆเลือนเข้ามาซ้อนบนภาพ ข้างใต้ตัวอักษรภาษาอังกฤษ

................................................รองเท้า ซ่อมคน

ตัวอักษรภาษาไทย เลื่อนสลับที่กัน กลายเป็น

................................................คนซ่อมรองเท้า
...Dissolve

21.MS.(ภาพประกอบเพลงไตเติ้ล)
ลุงสมดูดโอเลี้ยง
...Dissolve

22.LS.(ภาพประกอบเพลงไตเติ้ล)
เหมือนshot20 แต่แม่ค้าขายผักเก็บร้านไปแล้ว ครูผู้ชายวัย50 ขี่มอเตอร์ไซค์มาจอดหน้าร้านลุงสม ยื่นถุงใส่รองเท้าหนัง
ส่งให้ลุงสมซ่อม ครูผู้ชายส่งถุงให้อีกถุง เป็นมะม่วง4-5ลูก ลุงสมรับถุงมะม่วงนั้นมาอย่างยิ้มแย้ม ครูขี่รถออกไป
...Dissolve

23.MS.(ภาพประกอบเพลงไตเติ้ล)
ลุงสมซ่อมรองเท้าของลูกค้าที่เป็นครู
...Dissolve

24.LS.(ภาพประกอบเพลงไตเติ้ล)
แม่ค้าขายผัดไทเข็นรถมาจอดแทนที่ร้านขายผัก ลุงสมทักทายกับแม่ค้าผัดไท
...Dissolve

25.LS.(ภาพประกอบเพลงไตเติ้ล)
เด็กนักเรียนชายวัย8ขวบ เดินมากับแม่ แม่ถือกระเป๋านักเรียนให้ลูก ส่วนลูกอุ้มฟุตบอลอยู่ เดินมาหยุดที่ร้านลุงสม
เด็กน้อยถอดรองเท้าข้างขวาออก ส่งให้ลุงสม ลุงสมรับมาดูหัวเราะร่า ลุงสมซ่อมรองเท้าให้
... ...Cut

26.LS.(ภาพประกอบเพลงไตเติ้ล)
เด็กน้อยสวมรองเท้าข้างเดียว นั่งกินผัดไทรอลุงสมซ่อมรองเท้า ส่วนแม่กินหอยทอด
...Cut

27.MCU.(ภาพประกอบเพลงไตเติ้ล)
ถ่ายจากด้านขวาลุงสม เห็นbackgroundเป็นเด็กน้อยเดินไปกับแม่ เห็นเต็มตัว foreground เบลอๆ
เปลี่ยนโฟกัสมาที่foreground มือลุงสมกำลังเก็บของใส่กระเป่า
...Dissolve

28.LS.(ภาพประกอบเพลงไตเติ้ล)
ลุงสมหิ้วถุงมะม่วง กระเป๋าสัมภาระ เดินอยู่บนสะพานข้ามคลอง เพลงจบลง
...Fade out (to black)

ออฟไลน์ กันย์ณภัทร

  • *
  • 2248
  • -1
  • จงปลดโซ่ตรวนแห่งพันธนาการ ด้วยคมดาบแห่งใจตน
Re: วิธีการเขียนบทละครโทรทัศน์
« ตอบกลับ #10 เมื่อ: กันยายน 21, 2009, 09:55:18 PM »
โฮกกก แค่อ่านก็เหนื่อยแล้ว

ให้ทำจริงๆสงสัยต้องแบบทุ่มเทสุดๆสำหรับคนที่ใจรักจริงๆเลยเนอะ

ออฟไลน์ กาฬฯ

  • *
  • 6333
  • -4
  • เพศ: หญิง
  • ஐ~ เผ่าพันธุ์นาคีซ่อนพิษไว้เสมอ ~ஐ
Re: วิธีการเขียนบทละครโทรทัศน์
« ตอบกลับ #11 เมื่อ: กันยายน 21, 2009, 10:03:31 PM »
ตอนนี้กาฬก็เขียนบทละครเวทีให้เอกอยู่เหมือนกันค่ะ


แบบมึนมากเลย เพราะปกติเคยเขียนแต่บทประพันธ์  ซึ่งจะเน้นบรรยายอารมณ์ความรู้สึก

แต่เขียนบทละครเวทีอย่างนี้   แค่บอกว่าทำหน้ายังไง  อารมณ์ประมาณไหน  แค่นั้นเอง  แต่อันนี้ยังไม่หนักเท่ากับ  กาฬต้องมาไล่ลำดับฉากว่าม่านจะเปิดปิดตอนไหน  ไฟที่ฉายใช้กี่ดวง และดวงไหนเปิดดวงไหนปิด
หรี่เสียงเพลงฉากไหน  ปิดเปิดเพลง 

โหยยย  มึนได้อีก


ส่วนบทโทรทัศน์ เอาไว้ก่อนเหอะ  กาฬยังไม่รู้จักมุมกล้อง
**จักรวาลนี้กว้างไกลแลไพศาลนัก เราเป็นเพียงละอองธุลีอันน้อยนิดล่องลอย ยากที่จะเรียนรู้ทุกสรรพสิ่งให้จบครบสิ้น
สิ่งที่เรามิเคยเห็น ใช่ว่าจะมิมี แลสิ่งที่มิเคยได้ประสบ ก็ใช่ว่าจะมิเคยเกิดขึ้น**

ออฟไลน์ นานะจัง

  • *
  • 7234
  • -3
  • เพศ: หญิง
  • นิศาอรพินท์
    • อีเมล์
Re: วิธีการเขียนบทละครโทรทัศน์
« ตอบกลับ #12 เมื่อ: กันยายน 22, 2009, 05:19:11 PM »
อืมจริงๆ ถ้าไปเขียนบทโทรทัศน์ ไม่จำเป็นต้องบอกมุมกล้องนะจ๊ะ ถ้าเขียนบอกมุมกล้อง ไรงี้ด้วยจะเรียกเป็นการเขียนบทโทรทัศน์แบบ Full script
แต่ที่เห็นบทโทรทัศน์โดยทั่วไป จะ ให้บทคำพูด และรายละเอียดในการแสดงออกมามากว่า เพราะว่าระดับถ่ายทำแบบมืออาชีพ
ตากล้อง เค้าจะรู้มุมเองจ้า ว่าจะต้อง ถ่ายระยะแค่ไหน มุมกล้องยังไง ตัวอย่างที่เอามาให้ดู เป็นการทำหนังสั้น เลยมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ

ออฟไลน์ นานะจัง

  • *
  • 7234
  • -3
  • เพศ: หญิง
  • นิศาอรพินท์
    • อีเมล์
http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A8364836/A8364836.html

นักเขียนบทละคร เค้าได้ตังค์กันเท่าใหร่ต่อเรื่องครับ แล้วตามค่ายหนังค่ายละคร เราสามรถเอาบทหนังไปเสนอเค้าได้มั๊ยครับ     

นักเขียนบทละคร เค้าได้ตังค์กันเท่าใหร่ต่อเรื่องครับ  แล้วตามค่ายหนังค่ายละคร เราสามรถเอาบทหนังบทละครไปเสนอเค้าได้มั๊ยครับ 
ใครเคยมีประสบการณ์ หรือ พอทราบบ้างครับ ช่วยแนะนะหน่อยครับ อย่ากทำบ้าง


ขอบคุณครับ

จากคุณ : น้ำปลาปรับผ้านุ่ม   
เขียนเมื่อ : 26 ก.ย. 52 14:01:54   


ความคิดเห็นที่ 1     

ค่าเขียนบทขึ้นอยู่กับความยาวของละครครับ
ส่วนใหญ่ละครหัวค่ำจะอยู่ที่ 2 ชม.
แต่เรทเขาจะคิดกันตอนละชม. ดังนั้นละคร 2 ชม.ก็คูณ 2 เข้าไปครับ
ละคร 1 ชม.มักจะมี 24 ตอน
ละคร 2ชม.มักจะมี 14 ตอนมาตรฐาน
(ถ้าเรตติ้งไม่ดี ตัดจบก็ 12 ตอน
ถ้าเรทติ้งดีก็ยืดเป็น 17 ตอน)
กรณีโดนตัดจบ ถึงเขียนบทไปแล้วก็ไม่ไ่ด้ตังค์นะครับ
(ตอนนี้นักเขียนบทกำลังต่อสู้กันอยู่ ไม่รู้ได้ผลเป็นไงมั่ง)

เรทค่าบทสำหรับมืออาชีพ ตอน 1 ชม. ตั้งแต่ 12,000 - 15,000
(แล้วแต่ใครต่อรองได้เก่งกว่า)
เด็กใหม่ 7,000-9,000 ครับ
การเบิกจ่าย แล้วแต่ช่องครับ
ช่องหนึ่งจะจ่ายเงินเมื่อละครถ่ายได้ครบ 10 ตอน
อีกช่องต้องถ่ายครบถึงจะได้ก็มี  แต่บางช่องจะมีเงินเดือนประจำให้ต่างหาก
ล็อคไว้ไม่ให้นักเขียนบทเก่งๆไปทำให้ช่องอื่น

นักเขียนบทอาชีพส่วนมากจะเร่งปั่นงานให้ได้ 6 เรื่องต่อปี
(เร่งงานกันอ้วกแตก งานออกมาไม่ดี แต่รวย)

วิธีเสนอเรื่อง ก็เข้าไปหาผู้จัดเลยครับ กันตนา ดาราวิดิโอ ฯลฯ
อย่าไปที่ช่อง  มันช้า
แล้วกรุณาทำลายน้ำไว้ทุกหน้าบทด้วย  อย่าประมาท

นึกออกแค่นี้ก่อนนะครับ  มีไรถามต่อได้

จากคุณ : ผึ้งน้อยพเนจร   
เขียนเมื่อ : 26 ก.ย. 52 16:54:07   
 : บทเพลงปีศาจ

 
 
 
 
 
 


  ความคิดเห็นที่ 2     

สมัยเรียนจบใหม่ๆ เขียบบทละครสั้นให้ช่องสามอยู่เรื่องนึง ได้ตอนละ 6000

ผ่านไปสิบกว่าปี ค่าจ่างเขียนบทเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย

ไม่น่าแปลกใจที่ คุณภาพบทละครโทรทัศน์ประเทศเราเป็นเช่นนี้

จากคุณ : หมาสายตาสั้น   
เขียนเมื่อ : 26 ก.ย. 52 17:15:40   
 

 
 
 
 
 
 


  ความคิดเห็นที่ 3     

การเบิกจ่ายแล้วแต่นักเขียนจะเจรจาต่างๆ ถ้าใหญ่ๆ หน่อยก็ได้ทุก 5 ตอน ไม่ต้องรอ แต่ถ้าเป็นตัวเล็กๆ บางทีไม่กล้าทวง ก็รอให้บทจบค่อยขอเบิกตังค์ก็มี (ซึ่งอันนี้เสี่ยงโดนชักดาบมากมาย) ถ้าจะไปทำก็ต้องคุยกันให้รู้เรื่องว่าจะเบิกเงินยังไง จะได้ไม่มีปัญหา

จากคุณ : ดาวราตรี     
เขียนเมื่อ : 26 ก.ย. 52 18:35:33   
 

 
 
 
 
 
 


  ความคิดเห็นที่ 4   

เสนอได้ครับ ถ้าบทดี

ก็โปรเทคตัวเอง ทำอะไรให้รัดกุมด้วย อย่าพาซื่อมาก

การัดกุมการการทำงาน ไม่ผิดครับ เป็นกฏที่ควรทำกับงานทุกชิ้น
ในการปกป้องสิทธิ์ตัวเอง

แต่ใช่ว่าจะพิจารณาผ่านทุกรายนะครับ
เพราะว่ามันอยู่ที่เข้าตากรรมาการไหม

ที่สำคัญบางครั้งไอเดียเข้าท่า แต่ยังเขียนบทไม่ได้เรื่อง

ทีนี้สิ...ถ้าเขาไปแตกบรรเจิดไอเดียต่อ คุณจะรับได้ไหม

จากคุณ : ว่าไปตามนั้น     
เขียนเมื่อ : 26 ก.ย. 52 18:53:28   
 

 
 
 
 
 
 


  ความคิดเห็นที่ 5     

อยากให้กิฟท์คนตอบกระทู้ และเจ้าของกระทู้
กำลังอยากรู้คำตอบตรงนี้เหมือนกันค่ะ ขอบคุณมากๆ :)

จากคุณ : ปลายลมหนาว     
เขียนเมื่อ : 26 ก.ย. 52 19:09:22   
 

 
 
 
 
 
 


  ความคิดเห็นที่ 6     

แต่ละท่านที่มาตอบนี่ รู้จริงกันทั้งนั้นเลยอ้ะ แสดงว่านักเขียนบทมาเข้ามาหาข้อมูลที่เฉลิมไทยบ่อย

จากคุณ : Edna Mode   
เขียนเมื่อ : 26 ก.ย. 52 20:20:29   
 

 
 
 
 
 
 


  ความคิดเห็นที่ 7   

ขอบคุณทุกคนมากๆคร๊าบบบ^___^


 
   
 
 
 

จากคุณ : จขกท. (น้ำปลาปรับผ้านุ่ม)   
เขียนเมื่อ : 26 ก.ย. 52 22:03:55   
 

 
 
 
 
 
 


  ความคิดเห็นที่ 8   

คุณ ผึ้งน้อยพเนจร  เราสามรถเข้าหาเค้าเพื่อเสนอบทได้เลยเหรอครับ แบบว่ากลัว 

ว่าจะลองคิดบทหนังอ่ะ>_<

จากคุณ : น้ำปลาปรับผ้านุ่ม   
เขียนเมื่อ : 26 ก.ย. 52 22:22:15   
 

 

ออฟไลน์ กันย์ณภัทร

  • *
  • 2248
  • -1
  • จงปลดโซ่ตรวนแห่งพันธนาการ ด้วยคมดาบแห่งใจตน
Re: วิธีการเขียนบทละครโทรทัศน์
« ตอบกลับ #14 เมื่อ: ตุลาคม 26, 2009, 06:15:04 PM »
โฮกกกกกกกกกกกเยอะมากๆ เป็นความรู้มากมาย
เดี๋ยวจะค่อยๆทะยอยอ่านนะคะ
เพิ่งอ่านได้อันแรกอยู่เลย อิอิ